10.2.51

สายตรวจอาสา


คำว่า “สายตรวจอาสา” นั้นก็คือประชาชนทั่วไปที่อาสาหรือสมัครใจเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกัน แก้ไข ระงับเหตุและการกระทำผิดต่างๆ ในเขตรับผิดชอบของตนเองด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์หลักร่วมกันคือความสงบสุขของพี่น้องประชาชน รวมทั้งให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจอาสานั้น นอกจากจะมีลักษณะเช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนทั่วไปในการเป็นหูเป็นตา แจ้งข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสการกระทำผิดต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้รับทราบแล้ว ยังทำหน้าที่อีกบางประการที่คล้ายกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิเช่น การตั้งจุดตรวจในเขตพื้นที่ตามห้วงเวลาที่เหมาะสม การระงับเหตุร้ายที่พบไม่ว่าจะเป็นเหตุเฉพาะหน้าหรือต่อเนื่องกับการกระทำผิดเหล่านั้น การเฝ้าระวังมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้น เป็นต้น และนอกจากนี้ยังให้บริการหรืออำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามจุดต่างๆ ที่มีประชาชนและยวดยานพาหนะพลุกพล่านอีกด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของพี่น้องสายตรวจอาสานั้นไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นไปด้วยความเต็มใจและสมัครใจของบุคคลเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งคำว่า “สายตรวจอาสา” นี้เป็นคำที่ใช้เรียกกันเป็นการภายในซึ่งรู้จักกันดีในเขตพื้นที่ทุกหมู่บ้านและตำบลของอำเภอพาน คำอย่างเป็นทางการที่ตำรวจภูธรภาค 5 กำหนดขึ้นก็คือ “สมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน” หรือ สตบ. โดยการเรียกชื่อนั้นบางท้องที่ก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้างเช่น บางแห่งเรียกว่า “ชรบ.” หรือชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน หรือ “ตำรวจบ้าน” เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย สัญลักษณ์ประดับเครื่องแบบหรือการเรียกชื่อขณะนี้ตำรวจภูธรภาค 5 ได้กำหนดให้ใช้คำว่า “สมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน” เหมือนกันทั้งหมดในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน แต่อย่างไรก็ตามในเขตอำเภอพานนั้นก็จะยังคงเรียกโดยใช้คำว่า “สายตรวจอาสา” ตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ก็มีบางแห่งใช้คำว่า “ตำรวจอาสา” ด้วยเช่นกันซึ่งเป็นภาษาพูดหรือภาษาปาก สำหรับคำขวัญของสายตรวจอาสาอำเภอพานนั้นคือ "ซื่อสัตย์ สามัคคี มีคุณธรรม น้อมนำ เสียสละ เพื่อประชา"
ที่มาของสายตรวจอาสา

สายตรวจอาสาจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 โดย พ.ต.ท.ชวลิต ธนาคำ รองผู้กำกับการ (ฝ่ายป้องกันปราบปราม) สถานีตำรวจภูธรอำเภอพานในขณะนั้น (ขณะจัดทำเว็บไซต์และนำออกเผยแพร่ครั้งแรกนี้นายตำรวจท่านนี้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ (ฝ่ายป้องกันปราบปราม) สถานีตำรวจภูธรอำเภอปง จังหวัดพะเยา) ได้เป็นผู้ริเริ่ม โดยจากเอกสารเกี่ยวกับการจัดตั้งครั้งแรกเริ่มนั้นมีดังนี้
สภาพปัญหา เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของอำเภอพาน เนื่องจากอยู่ในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งผลิตยาเสพติด เป็นสาเหตุให้สถานการณ์ด้านยาเสพติดมีความรุนแรง เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านและตลาดค้ายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามสภาพปัญหายาเสพติดดังกล่าว
สถานการณ์ฝ่ายเรา กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการในพื้นที่ได้ร่วมกันดำเนินงานต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติดได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ภายในเขตพื้นที่อำเภอพานได้อย่าเบ็ดเสร็จเนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่อยู่จำนวนจำกัด กล่าวคือมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ขณะที่มีประชากรในพื้นที่ประมาณ 140,000 คนและมีพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางถึง 15 ตำบล 234 หมู่บ้าน
แนวทางในการต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้นำนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการประกาศสงครามกับขบวนการค้ายาเสพติด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการป้องกันและปราบปรามตามหลักยุทธศาสตร์รวมพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติด ซึ่งตามยุทธศาสตร์นี้ฝ่ายเราต้องดำเนินการยึดพื้นที่และนำผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
1. การแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นแนวร่วมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

2. จัดทำเวทีประชาคมเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อปัญหายาเสพติด โดยปลุกสำนึกให้ตระหนักถึงปัญหา ร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมปฏิบัติในการป้องกันชุมชนให้ปลอดภัยจากยาเสพติด
3. เสริมสร้างความมั่นใจด้วยการปฏิบัติการจิตวิทยา จัดกิจกรรมป้องกันและรณรงค์ รวมทั้งการกดดันปราบปรามทุกรูปแบบ จัดตั้งมาตรการทางสังคมและจัดตั้งชุดตำรวจหมู่บ้าน
4. จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ค้ายาเสพติดทั้งผู้ค้ารายใหญ่ รายกลาง รายย่อย และบุคคลผู้เสพยาเสพติด
5. จัดทำค่ายบำบัด
6. ชุมชนดูแลและพัฒนาอาชีพ ติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัดช่วยส่งเสริมพัฒนาอาชีพและส่งเสริมให้ประชาชนดูแลช่วยเหลือกัน
7. เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการทำประชาคมร่วมกันทุกฝ่าย มีการระดมทุนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อสร้างพลังแผนดิน พัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้และยั่งยืนตลอดไป
จากหลักยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้จึงเห็นควรจัดตั้งตำรวจหมู่บ้านหรือสายตรวจอาสาสมัครขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล เพื่อให้เป็นไปตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติด รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมในเชิงรุก

ขั้นตอนการดำเนินการโครงการสายตรวจอาสา
การที่จะจัดตั้งสายตรวจอาสาเพื่อทำหน้าที่ตำรวจบ้านช่วยเหลือภารกิจในการป้องกันยาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายซึ่งประกอบด้วย
1. หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการ

2. นายอำเภอในฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับอำเภอ (ศอ.ปป.) และเป็นผู้อนุมัติโครงการ
3. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีส่วนสำคัญในการคัดเลือกประชาชนเข้ามารับการฝึกอบรมตามโครงการสายตรวจอาสารวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสายตรวจอาสา
4. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นฝ่ายให้การสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมแต่ละตำบล โดยจัดสรรจากงบอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้
5. นายตำรวจรับผิดชอบตำบล ตำรวจประจำหมู่บ้านและตู้ยามสายตรวจตำบลต่างๆ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสำหรับสายตรวจอาสาในแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละตำบล
6. ปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันสามารถให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดหาอาวุธปืนยาว โดยจัดสรรอาวุธปืนจากโครงการ ทส.ปช. เพื่อให้สายตรวจอาสาเบิกยืมไปใช้ในการออกตรวจ นอกจากนี้ยังมีส่วนราชการอื่นๆ ที่สามารถให้การสนับสนุนได้ เช่น เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลหรือสำนักงานสาธารณสุขเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เนื่องจากโครงการนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย จะต้องมีการประชุมปรึกษาหรือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นสภาพปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องมีสายตรวจอาสา ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินงานจึงมีความสำคัญไม่น้อย กล่าวโดยสรุปแล้วควรมีขั้นตอนดังนี้
1. ร่างโครงการสายตรวจอาสาเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอความเห็นชอบและขอความร่วมมือ

2. ขอความเห็นชอบในหลักการจากองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นหน่วยอนุมัติงบประมาณ
3. เสนอโครงการต่อนายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศอ.ปป. เพื่อขออนุมัติโครงการ เมื่อนายอำเภออนุมัติโครงการแล้วจะได้สั่งการให้ทุก อบต.อุดหนุนงบประมาณให้กับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป
4. แสวงหาผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้คัดเลือก
5. เปิดการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด
6. ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติของสายตรวจอาสาเป็นประจำอย่างน้อยควรมีการประชุมเดือนละ 1 เดือน เพื่อเพิ่มเติมความรู้แก่สายตรวจอาสาและแนะนำเทคนิควิธีการปฏิบัติต่างๆ โดยจัดให้สายตรวจตู้ยามประจำตำบลเป็นศูนย์ประสานงานและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สายตรวจอาสา
ภารกิจของสายตรวจอาสา สายตรวจอาสามีภารกิจดังนี้
1. การป้องกันภัยจากยาเสพติด โดยให้สายตรวจอาสามีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลหมู่บ้านของตนเองมิให้มีผู้ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ค้ารายกลางและรายย่อย เพราะประชาชนด้วยกันเองจะรู้ข้อมูลภายในหมู่บ้านของตนได้ดี จึงสามารถกดดันผู้ค้าให้เลิกค้าอย่างได้ผล สำหรับผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่นั้น สายตรวจอาสาจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป ในส่วนของผู้เสพยาเสพติดจะให้สายตรวจอาสานำเข้ารับการบำบัดรักษา ณ ศูนย์บำบัดประจำอำเภอ นอกจากนี้สายตรวจอาสายังทำหน้าที่ติดตามดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษามิให้หวนกลับไปเสพอีก
2. การป้องกันอาชญากรรม สายตรวจอาสาทำหน้าที่นี้โดยการออกตรวจตราหมู่บ้านของตนเพื่อป้องกันเหตุต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและมีหน้าที่ในการสืบสวนข้อมูลก่อนเกิดเหตุในแต่ละชุมชน
3. การรักษาความสงบเรียบร้อย สายตรวจอาสาทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้านของตนเองตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
4. การให้บริการแก่ชุมชน เช่น การดูแลด้านการจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เป็นต้น
สายตรวจอาสาในปัจจุบัน
นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งสายตรวจอาสาเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่สายตรวจอาสาของเราทุกคนต่างตั้งใจ มุ่งมั่นและเข้มแข็งต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี ช่วยเหลืองานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้เหตุร้ายหรือการกระทำผิดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอัตราสูงลดลงในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง สายตรวจอาสาทุกคนมีปณิธานแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่นี้แม้จะไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ก็ตาม สิ่งเดียวที่สายตรวจอาสาของเราต้องการก็คือความสงบร่มเย็นเป็นสุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ปัจจุบันสายตรวจอาสาอำเภอพานมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,000 คนเศษกระจายอยู่ทุกพื้นที่ (จำนวน 15 ตำบล 234 หมู่บ้าน) โดยสายตรวจอาสาของเรามีทุกเพศ ทุกวัย (แต่ทั้งนี้ต้องมีอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว) ทุกอาชีพ (สำหรับผู้ที่มีอายุมากที่สุดในขณะนี้คือนายโถ กันทะ อายุ 70 ปี (ท่านเกิดวันที่ 1 เมษายน 2480) อยู่บ้านเลขที่ 159 หมู่ 1 บ้านศาลาเหมืองหิน ตำบลป่าหุ่ง) สายตรวจอาสาของเราทุกคนนั้นผู้บังคับบัญชาทุกระดับต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการจัดตั้งองค์กรสายตรวจอาสานั้นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเริ่มดำเนินการคือมีประธานสายตรวจอาสาประจำตำบล, ประธานสายตรวจอาสาประจำหมู่บ้าน และชุดสายตรวจอาสา โดยแต่ละหมู่บ้านมีสายตรวจอาสาจำนวน 10 คนเป็นอย่างน้อยทำหน้าที่สำคัญอาทิเช่น
- ตั้งจุดตรวจในเขตหมู่บ้านที่รับผิดชอบ

- อำนวยความสะดวกด้านการจราจรช่วงเวลาที่มีคนและยานพาหนะพลุกพล่าน
- แจ้งข้อมูลข่าวสาร เบาะแสการกระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ร่วมปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านต่างๆ
คุณสมบัติของสายตรวจอาสา ผู้ที่อาสาจะทำหน้าที่สายตรวจอาสาจะต้องคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

2. มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านและอำเภอนั้นๆ
3. มีความสมัครใจพร้อมเสียสละเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
4. ไม่เป็นผู้เสื่อมเสียในทางศีลธรรม ในทางทุจริต หรือเป็นภัยต่อสังคม
5. ไม่เคยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
6. มีความประพฤติเรียบร้อย
7. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ได้รับการยกย่องหรือเป็นที่นับถือของประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน
บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสายตรวจอาสา
เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมองเห็นความสำคัญของสายตรวจอาสา จึงได้ส่งเสริมและสั่งการให้สถานีตำรวจต่างๆ ดำเนินการจัดให้มีการจัดตั้งและฝึกอบรม โดยตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้จัดทำโครงการฝึกอบรมสมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้านตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ 2550 ขึ้นให้สถานีตำรวจทุกแห่งดำเนินการ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบไว้ดังนี้
1. เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษาความสงบในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียงกรณีมีงานมหรสพและงานประเพณีต่างๆ

2. เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและยาเสพติด
3. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่โดยเฉพาะในเขตหมู่บ้าน/ชุมชน
4. แจ้งข้อมูลข่าวสาร ข่าวความเคลื่อนไหว เบาะแสของผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
5. บริการและอำนวยความสะดวกในด้านการจราจรให้กับประชาชน
6. ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นเครือข่ายของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่
สิทธิประโยชน์ที่สายตรวจอาสาจะได้รับกรณีประสบภัยจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการช่วยเหลือราชการ
1. พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้ามนุษยธรรม พ.ศ.2497
2. พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้ามนุษยธรรม พ.ศ.2543
3. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการขอรับเงิน การพิจารณาและขยายเวลาในการขอรับเงินสงเคราะห์เนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2543
4. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราในการจ่ายเงินสงเคราะห์ และกำหนดลักษณะของความพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีพ พ.ศ.2544
5. ระเบียบการทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2544
6. ระเบียบว่าด้วยการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากช่วยเหลือราชการ สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้ามนุษยธรรม พ.ศ.2523
7. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2544
8. ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายจะเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มคะแนนเป็นกรณีพิเศษให้กับสายตรวจอาสาที่มีสิทธิสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ และได้เสียสละเวลาส่วนตัวช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตำรวจจนเกิดผลดี มีความประพฤติเรียบร้อย ทั้งนี้ต้องได้รับการรับรองจากหัวหน้าสถานีตำรวจและผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรที่สายตรวจอาสาสังคมอยู่
สายตรวจอาสาที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือราชการตามที่ได้รับมอบหมายเป็นคำสั่งจากทางราชการ หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรมซึ่งพลเมืองดีพึงปฏิบัติในเมื่อการปฏิบัตินั้นไม่ขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์และสิทธิประโยชน์อื่นตามกฎหมายข้างต้น โดยสายตรวจอาสาหรือทายาทสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือต่อหัวหน้าสถานีตำรวจที่สังกัดอยู่ได้

เครื่องแบบสายตรวจอาสา
เพื่อให้การแต่งเครื่องแบบของสายตรวจอาสาหรือชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน" เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตำรวจภูธรภาค 5 จึงได้กำหนดเครื่องแบบไว้ดังนี้
1. การแต่งกายแบบชุดฝึก สีกรมท่า
2. ติดอาร์มที่แขนเสื้อด้านขวามีชื่อของหน่วยงานหลัก (ภ.จว....)
3. แขนเสื้อด้านซ้ายมีชื่อของหน่วยงานที่ปฏิบัติ (สภ.อ.)
4. หมวกแก๊ปทรงอ่อน สีกรมท่า ติดตราสัญลักษณ์อาสาสมัครตำรวจบ้านภาค 5
5. เข็มขัด,รองเท้า,ถุงเท้าและสายนกหวีด ให้กำหนดตามความเหมาะสมในตำรวจภูธรจังหวัดเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: