15.6.51

สภ.พานกับมาตรการในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008

พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา : ผู้เขียน

สวัสดีครับ ตอนนี้ใครๆ เขาก็พูดกันถึงฟุตบอลยูโร 2008 หรือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปประจำปี 2008 กันแทบทั้งนั้น อาจจะเนื่องจากเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนแทบจะทั้งโลกอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ก็เข้าสู่อาทิตย์ที่สองแล้ว แล้วก็จะมีไปจนถึงปลายเดือนนี้ ทำเอาบางคนโดยเฉพาะคอบอลทั้งหลายต้องอดตาหลับขับตานอนตอนกลางคืนเพื่อลุ้นคู่ที่ตนเองชื่นชอบ แต่บางคนก็ลุ้นไปเสียทุกคู่เรียกว่าพลาดไม่ได้เลยทีเดียว

แน่นอนครับว่ากีฬาไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม มีทั้งผู้ที่ดูเป็นกีฬา ดูเพื่อความบันเทิง ดูเพื่อเอาไปเม้าธ์กับเพื่อนๆ จะได้ไม่ตกยุคสมัยไปกับเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่....บางคนพอมีกีฬาสำคัญๆ เข้ามาก็จะเอาเรื่อง “การพนัน” มาเกี่ยวข้องเสียทุกทีไป ข่าวคราวก็ปรากฏตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มากมายว่ามีคนที่ต้องหมดเนื้อหมดตัว สูญเงินเสียทอง หรือบางครั้งถึงขนาดต้องเสียชีวิตจากการติดตามทวงหนี้พนันหล่านี้ ยูโร 2008 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันมีข่าวตามสื่อมวลชนออกมาบ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
ในส่วนของตำรวจเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและคงจะไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น จึงได้ออกมาตรการในการป้องกันการลักลอบเล่นการพนันไว้ ในส่วนของสถานีตำรวจภูธรพานของเราก็เช่นเดียวกันโดยเราได้มีคำสั่งที่ 214/2551 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2551 กำหนดมาตรการป้องกันปราบปรามจับกุมการลักลอบการพนันทายผลการแข่งขันครั้งนี้ไว้ดังนี้ครับ


“ด้วยในห้วงระหว่างวันที่ 7-29 มิถุนายน 2551 เป็นช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ซึ่งจากการประเมินและวิเคราะห์ปัญหาการลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลที่ผ่านมาพบว่าทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ๆ จะมีการลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษบกิจและสร้างความเดือดร้อนต่อสถาบันครอบครัวของผู้เล่นที่เสียการพนัน บางรายทวงหนี้สินจากการพนันด้วยการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขมิให้เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหา การปราบปรามจับกุมการเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ จริงจังและต่อเนื่อง จึงวางมาตรการในการดำเนินการดังนี้
1. จัดชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามจับกุมการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลจำนวน 2 ชุด (ส.3 , ป.17) ประกอบรายชื่อดังนี้ 1.1 ชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามฯ ชุดที่ 1
1) พ.ต.ท.จำนงค์ คำยืน สว.สส. เป็นหัวหน้าชุด
2) – 9) (เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน) ประจำชุด
1.2 ชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามฯ ชุดที่ 2
1) พ.ต.ต.วินัด ถิ่นศรี สว.สป. เป็นหัวหน้าชุด
2) ร.ต.ท.ธวัฒน์ เจริญผล รอง สว.สป.
3) – 11) (เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน) ประจำชุด
โดยให้ชุดปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ดำเนินการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับเจ้ามือโต๊ะพนันบอล กลุ่มนักพนันที่ลักลอบเล่นการพนันการแข่งขันในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามห้วงระยะที่มีการแข่งขันครั้งนี้ เน้นเป็นพิเศษที่ร้านอาหาร สถานบริการทุกแห่งในพื้นที่
2. ให้ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สวป.ระดมกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ออกป้องกันปราบปรามจับกุมเจ้ามือโต๊ะพนันทายผลการแข่งขันและกลุ่มผู้ลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันในพื้นที่รับผิดชอบในห้วงระยะเวลาที่มีการแข่งขันครั้งนี้
3. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจตำบลทุกตำบล สายตรวจรถยนต์ รถจักรยานยนต์ทุกชุด/ทุกสายออกตรวจตราสอดส่องสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับโต๊ะพนันบอล หรือกลุ่มผู้ลักลอบเล่นการพนันบอลในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละตำบล/สายตรวจ หากมีหน่วยอื่นเข้าจับกุมจะพิจารณาข้อบกพร่องของนายตำรวจและสายตรวจที่มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่
มอบหมายให้ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สวป., พ.ต.ท.จำนงค์ คำยืน สว.สส., พ.ต.ต.วินัด ถิ่นศรี สว.สป. เป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ โดยการควบคุม กำกับดูแลของ พ.ต.ท.สว่างวิทย์ สุทธหลวง รอง ผกก.(ปป.) , พ.ต.ท.สมชาย นิ่มกร รอง ผกก.(สส.)
ทั้งนี้ให้ผู้มีหน้าที่ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัด....”


ครับนี่ก็คือมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันในช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร 2008 ของ สภ.พานเรา ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด และเป็นที่น่ายินดีว่าตั้งแต่เริ่มต้นแข่งขันมาจนถึงวันที่รายงานนี่เขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.พานไม่พบการกระทำผิดใดๆ เกิดขึ้นเลยครับ
ฝากทิ้งท้ายไว้ครับว่าดูฟุตบอลให้เป็นกีฬาจะดีกว่าเล่นการพนัน เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี สูญเงิน เสียทองแล้ว ไม่เคยมีใครร่ำรวยเพราะการพนันเลยครับ

ขอบคุณครับ

21.2.51

บรรณาธิการแถลง

พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา: เขียน
สวัสดีทุกท่านครับ กระผม พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สวป.สภ.พานในฐานะบรรณาธิการเว็บไซต์ สภ.พาน http://phan.chiangrai.police.go.th ขอต้อนรับเข้าสู่บล็อกนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของเราด้วยความยินดียิ่งครับ
ขอเรียนให้ทราบว่าเว็บไซต์ของเราได้จัดทำบล็อกขึ้นเพิ่มเติมจำนวน 2 บล็อกโดยใช้คำว่า "บล็อก1" และ "บล็อก2" บล็อก1 จะใช้สำหรับการรายงานข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นซึ่งมีข้อมูลไม่มากนัก เช่น วันนี้ไปพบปะเยี่ยมเยียน พูดคุย ประชุม ปล่อยแถวตำรวจอะไรทำนองนี้ครับ เราจะนำมารายงานให้ทราบกันในบล็อก1 นี้ แต่หากเรื่องนั้นมีข้อมูลมากๆ ก็จะนำไปไว้ในเว็บไซต์ปกติ ส่วน "บล็อก2" ก็คือส่วนที่ท่านกำลังเปิดอยู่นี้นี่แหละครับ ในบล็อก2 นี้เราจะนำข้อคิด ข้อเขียน สาระน่ารู้ สิ่งดีๆ ในรูปแบบของบทความที่พวกเราตำรวจเมืองพานและพี่น้องประชาชนช่วยกันคิดหรือเขียนขึ้นมานำเสนอ ซึ่งท่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในข้อคิดข้อเขียนเหล่านั้นได้ ก็ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ จะได้เป็นการต่อยอดหรือแนะนำพวกเราไปด้วยในตัว
ในความคิดของกระผมตั้งใจว่าอยากจะให้ทุกแผนกงานของ สภ.พานของเรานำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวของงานนั้นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน รวมไปถึงเป็นการเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณชนเพิ่มเติมจากที่ทางเรานำเสนอในเว็บปกติโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่งานนั้นๆ รับผิดชอบการดำเนินการในส่วนนี้ไปเลย สิ่งที่คิดว่าจะทำนี้จะมีลักษณะคล้ายๆ กับ "บล็อก1" นั่นเอง ขณะนี้กำลังจีบๆ เจ้าหน้าที่เหล่านี้อยู่ ซึ่งคงจะไม่ผิดหวัง เพราะหลายๆ คนมีความสนใจอยู่แล้ว ถ้าหน่วยงานไหนทำเสร็จก่อนก็จะนำลงเสนอก่อน โดยกระผมจะสร้าง Link งานนั้นๆ ไว้ที่หน้าเว็บปกติ อย่าลืมเข้ามาเยี่ยมเยียนพวกเราบ่อยๆ ก็แล้วกันครับ
ประการสุดท้ายครับ เว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นรวมไปถึงบล็อกนั้น กระผมถือว่าเป็นของทุกๆ ท่านด้วย หากจะมีข้อแนะนำ ติชมพวกเราบ้างก็จะเป็นการดีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ อย่าลืมแนะนำติชมพวกด้วยก็แล้วกันนะครับ
กราบขอบพระคุณครับ

18.2.51

ตำรวจดีศรีเมืองพาน

พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา : เขียน
"แม่ค้า (พ่อค้า) ก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำตก 2 ถ้วยเน้อ.....ส่วนของน้องขอเป็นน้ำใสเส้นหมี่เน้อเจ๊า...." "เจ๊า (ครับ ) รอกำนะเจ๊า......ได้แล้วเจ๊า......บ่ฮู้จะเอาหยังเพิ่มก่อครับ......"
เสียงสั่งซื้อและภาพพ่อค้าแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ริมถนน ห้างสรรพสินค้าหรือที่ไหนๆ ก็ตาม คงจะเป็นภาพที่ทุกท่านคุ้นตากันเป็นอย่างดี อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สุจริต และสร้างรายได้ที่ดีพอสมควร แต่ก็ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายกว่าจะได้เงินมาในแต่ละวัน ภาพคุ้นๆ ตาแบบนี้มีอยู่แทบทุกที่ ทุกแห่ง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เนื่องจากอาจจะถือได้ว่าเป็นอาหารที่ทานง่ายๆ สบายๆ และอิ่มอร่อยคุ้มค่ากับราคาที่ไม่แพง บางคนทาน 2-3 ถ้วยในแต่ละครั้งก็มี ลูกค้าเพลิดเพลินอิ่มอร่อยไปกับสิ่งของที่อยู่ในถ้วย ส่วนพ่อค้าแม่ค้านั่นเล่า หน้าตาก็เบิกบานยิ้มแย้มไปกับการเรียกใช้บริการของลูกค้าที่แทบทุกคนมีเจ้าประจำเป็นของตัวเอง เรียกได้ว่าทานกันไป ทำกันไปจนเสบียงกรังที่เตรียมมาหมดไม่รู้ตัวในแต่ละวันหรือแต่ละคืน
ลูกค้าเมื่อสั่งและทานเสร็จและจ่ายสตางค์แล้วต่างคนต่างก็พากันแยกย้ายไป คงเหลือถ้วย ช้อน แก้วน้ำไว้ให้เจ้าของร้านหรือลูกจ้างทำหน้าที่เก็บ กวาดล้าง เช็ดถู เพื่อบริการลูกค้ารายอื่นต่อไป จวบจนกระทั่งขายหมดก็เก็บรวบรวมไว้ที่บ้านเพื่อนำมาขายในวันรุ่งขึ้นต่อไป ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เห็นจนชินตาและเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสังคมจนมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่จากเรื่องที่มองเห็นจนชินตาและเป็นเรื่องปกติธรรมดานั้น หากท่านเดินทางไปแถวๆ ตลาดเทศบาลตำบลเมืองพาน และมีโอกาสแวะทานก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นโกเด้งข้างทางฝั่งทิศตะวันตกใกล้สถานีตำรวจภูธรอำเภอพานประมาณ 150 เมตรท่านคงจะรู้สึกแปลกตาไม่น้อยเมื่อเจ้าของ (หรือที่หลายๆ คนตั้งฉายาให้เองว่า "ลูกมือ") ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพค้าขายโดยตรง แต่กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เวลาปกติก็ต้องทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ด้วยการเป็นตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกแก่รถรา ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือให้บริการเด็กเล็กเด็กน้อยข้ามถนนเวลาโรงเรียนจะเข้าในตอนเช้าหรือเลิกเรียนในเวลาเย็น "เขา" คนนี้คือ "ลุงดาบ" ของเด็กเล็กๆ "เขา" คนนี้คือ "อ้าย(พี่)" หรือ "น้อง" ของหนุ่มน้อยสาวน้อยและพี่น้องเมืองพานที่รู้จักกันดี จากอัธยาศัยไมตรีอันดี ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลาทำงานไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ร้อนหรือหนาวปานใดก็ตาม ทำให้เวลาไปไหนมาไหนจะพบกับรอยยิ้มต้อนรับจากคนทั่วไป โดย "เขา" ผู้นี้ที่คอยทำหน้าที่เป็น "ลูกมือ" ให้ภรรยาเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยว,น้ำ,น้ำแข็งให้แขกที่มาอุดหนุนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม อิ่มเอิบ เบิกบานสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นและผ่านไปมาเป็นอย่างยิ่ง "เขา" คนนี้คือ ดาบตำรวจพิทักษ์ ทิพย์ศรี ผู้บังคับหมู่งานจราจรสถานีตำรวจภูธรพาน นั่นเอง
"พื้นเพดั้งเดิมของผมเป็นคนบ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2500 อายุถึงตอนนี้ก็ 50 ปีแล้ว" ด.ต.พิทักษ์ฯ เล่าให้บรรณาธิการฟัง "เมื่อวัยเด็กผมมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นตำรวจ เพราะนอกจากเป็นอาชีพที่มีเกียรติแล้ว ยังสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพินิตประสาธน์ อำเภอเมืองพะเยาแล้วก็สอบเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจที่โรงเรียนตำรวจภูธร 5 ได้สมใจ เมื่อเรียนจบแล้วได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นลูกแถวประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานในปี พ.ศ.2523 งานครั้งแรกที่ทำก็คืองานสืบสวน ทำได้ประมาณ 7-8 เดือนก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่จราจรเมื่อประมาณต้นปี 2524 แล้วก็อยู่ในหน้าที่นี้ตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลาถึง 26 ปีเศษแล้วครับ"
"งานในหน้าที่ของผมเหรอครับ" ด.ต.พิทักษ์ฯเล่าต่อ "ก็จะหนักไปในด้านการให้บริการพี่น้องประชาชน , อบรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎจราจรทั้งแก่พี่น้องและเด็กนักเรียน ซึ่งก็รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าจะถามว่าเป็นงานที่หนักหรือไม่ จะตอบว่าหนักก็ใช่แต่ก็ไม่เชิง คือเป็นงานในหน้าที่ที่ผมภูมิใจและเต็มใจที่จะทำ เรียกว่าแม้จะหนักหรือเหนื่อยเพียงใดก็ตาม เมื่องานเสร็จแล้ว พักสักครู่ก็หายเป็นปลิดทิ้งน่ะครับ สิ่งที่เหลือก็คือความภาคภูมิใจครับที่ได้ทำงานในหน้าที่นี้"
"งานในหน้าที่จราจรของผมเริ่มตั้งแต่เช้าของทุกวันทำการ คือผมจะตื่นนอนประมาณตีสี่ ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ตีห้าก็จะมาเข้าจุดตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้ เช่น บางวันอาจจะเป็นการให้บริการแถวๆ หน้าตลาดเมืองพาน , ตลาดหกแยก , จุดที่มีปริมาณการจราจรพลุกพล่าน รวมไปถึงหน้าโรงเรียนต่างๆ ด้วย ส่วนบางวันก็อาจจะต้องมาเข้าเวรประจำศูนย์จราจร เพื่อทำหน้าที่คล้ายๆ กับพนักงานวิทยุสื่อสาร รับแจ้งเหตุ รับรายงานเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจราจรบ้าง งานในช่วงเช้าจะเสร็จสิ้นไปเมื่อเวลาประมาณ 08.30-09.00 น. เสร็จแล้วก็พักสักครู่ ที่นี้วันไหนที่ผู้บังคับบัญชากำหนดให้มีการตั้งจุดตรวจราจรก็จะต้องทำหน้าที่นี้ การตั้งจุดตรวจแทบทุกครั้งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาระหว่าง 09.00-12.00 น. แต่บางวันอาจจะเป็นเวลาอื่น ส่วนช่วงบ่ายก็ออกให้บริการการจราจรตามจุดต่างๆ คล้ายๆ กับในช่วงเช้า จนงานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 17.30 น.ของแต่ละวัน ซึ่งผมและพี่น้องตำรวจจราจรทำหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจและภูมิใจครับ"
"ผมภูมิใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างมาก" ด.ต.พิทักษ์ฯ พูดให้ฟังต่อด้วยรอยยิ้ม "หลักการทำงานของผมก็คือ มีหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายอย่างไร ให้ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผมภูมิใจมากที่การปฏิบัติหน้าที่ของผมได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษหรือที่หลายๆ คนเรียกกันติดปากว่า 2 ขั้นหลายครั้งด้วยกัน โดยในปีนี้ (2550) ช่วงครึ่งปีแรก (เมษายน 2550...ผู้เขียน) ผมเป็นหนึ่งในจำนวนข้าราชการตำรวจชั้นประทวน 19 คนที่ได้รับการ
เลื่อนเงินเดือน 1 ขั้นจากเจ้าหน้าที่ระดับเดียวกันประมาณ 150 คน นั่นคือกำลังใจอันวิเศษสุดสำหรับผมและครอบครัว ซึ่งก็ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้บังคับบัญชาทุกท่านที่กรุณาผม"

ที่นี้ก็เข้าสู่เรื่องสำคัญในครั้งนี้คือเรื่องการขายก๋วยเตี๋ยวเป็นอาชีพเสริมซึ่ง ด.ต.พิทักษ์เล่าให้ฟังว่า
"ผมมาอยู่เมืองพานได้สักพักหนึ่งก็แต่งงานมีครอบครัว โดยภรรยาของผมชื่อนางอำไพ ทิพย์ศรี เป็นคนอำเภอพานนี่เองครับ ผมกับภรรยาอยู่กินกันมาได้ประมาณ 25 ปีเศษแล้ว ปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน คือนายพินิจพงษ์ ทิพย์ศรี อายุ 23 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพานนี่เองครับ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าชั้นปีที่ 2 อีกคนหนึ่งชื่อนางสาวพัทธมน ทิพย์ศรี อายุ 20 ปี เรียนอยู่ที่เดียวกัน สาขาการจัดการ ชั้นปีที่ 1 ทีนี้ลูกผมทั้งสองคนก็เติบโตและอยู่ในระหว่างการศึกษาที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่เป็นหลัก ในส่วนของผมก็รับเงินเดือนเดือนละ 16,650 บาท บวกเงินค่าตอบแทนอีก 3,000 เดือนหนึ่งก็ตกอยู่แค่ประมาณ 20,000 บาทเท่านั้น ส่วนภรรยาก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น การเย็บปักถักร้อย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะมีงานเข้ามาไหม ถ้ามีก็ถือว่าโชคดีที่มีรายได้เพิ่มจากส่วนที่ผมมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคิดคำนวณรายได้ของผมและภรรยาที่ได้รับมาแล้วคงจะไม่พอในการส่งเสียลูกเรียนหนังสือรวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกจิปาถะ ก็เลยปรึกษากัน ซึ่งก็ถือว่าพอจะเป็นโชคดีของผมที่ภรรยามีฝีมือในด้านการทำอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๋วยเตี๋ยวที่ผมคิดว่าเป็นอาหารประจำที่ถูกปากคนไทยและหาลูกค้าได้ง่ายๆ ก็เลยคิดจะทำอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมกันดู ประจวบเหมาะกับนักการภารโรงของ สภ.อ.พานชื่อคุณมงคล ยะแดง หรือที่ตำรวจจะเรียกกันติดปากว่า "นักการเบิ้ม" ที่ก่อนหน้านี้เคยเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวโกเด้งที่หน้าตลาดอำเภอพานใกล้โรงพักประมาณ 200 เมตรเขาจะเลิกกิจการเนื่องจากไม่มีเวลาเพียงพอ ผมก็เลยไปขอเซ้งต่อจากนักการเบิ้มคนนี้ โดยใช้จุดเดิมและเจ้าเดิมนั่นเอง ผมกับภรรยาเริ่มขายก๋วยเตี๋ยวโกเด้งนี้มาตั้งแต่ประมาณต้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา โดยให้ภรรยาเป็นผู้ปรุง สำหรับผม...ก็เป็นลูกมือให้แฟนครับ" ด.ต.พิทักษ์ฯ พูดด้วยความภูมิใจ "ผมทำทุกอย่างที่ไม่ใช่เรื่องปรุง ตั้งแต่ขายขนถ้วย ขนช้อน ขนแผง และทุกอย่างที่สามารถทำได้ รวมไปถึงเป็นเด็กเสิร์ฟอีกด้วย ผมทำได้หมดครับ ยิ่งเห็นลูกค้ามีความสุข อิ่มอร่อยกับการทานด้วยแล้ว หายเหนื่อยครับ บางวันที่ลูกชายกับลูกสาวผมเลิกเรียนแล้วพอมีเวลาว่าก็จะมาช่วยอีกแรงหนึ่งครับ"
"ถ้าถามว่ามีรายได้ดีไหม" ด.ต.พิทักษ์ฯ หยุดคิดนิดหนึ่ง "ก็พอสมควรครับ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะใช้เลี้ยงครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือได้อย่างสบายๆ บวกกับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงของผมและของแฟนก็พออยู่ได้ครับ ผมคิดว่าคงจะทำอาชีพเสริมนี้ไปอีกนานเลยทีเดียว ผมภูมิใจครับ" "ผมมาช่วยเป็นลูกมือให้แฟนเวลาก็ประมาณซัก 17-18.00 น.ของทุกวัน คือหลังจากที่ผมเลิกหรือเสร็จจากภารกิจหน้าที่ประจำวันแล้วก็มาช่วยเขาจนถึงเวลาเลิกซึ่งจะตกประมาณเที่ยงคืนเศษๆ เสร็จแล้วก็ช่วยกันเก็บข้าวของเครื่องใช้กลับบ้าน แล้วพักผ่อนหลับนอนจนกระทั่งถึงเวลาใกล้ๆ ตีห้าของวันรุ่งขึ้นก็ไปปฏิบัติภาระหน้าที่ในงานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายต่อ"
"ถามว่าเหนื่อยไหม ก็ขอบอกว่าพอจะเหนื่อยบ้างครับ แต่มันเป็นหน้าที่และความต้องการที่จะทำ เสร็จงานแล้วหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ยิ่งเวลานับเงินหลังช่วยแฟนขายก๋วยเตี๋ยวเสร็จแล้ว ความเหนื่อยมันหายไปหมดเลยครับ ถึงแม้ว่ากำไรที่ได้จะไม่ใช่มากมายอะไรก็ตาม แต่ก็ถือว่ามากพอสมควรสำหรับตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างผม จะใดเหียก็บ่ดีลืมมาอุ๊ดหนุนผมกั๊บแฟนพ่องเน้อ ร้านผมอยู่ใกล้โฮงพักเมืองพาน เปิดทุกวัน ราคาก็แค่ซาวถึงซาวห้า (20-25) บาทต่อถ้วยเต้าอั๊นครับ" ด.ต.พิทักษ์ฯ กล่าวกับบรรณาธิการเป็นภาษากำเมือง
เราได้พูดคุยกับ ด.ต.พิทักษ์ฯ ถึงเรื่องราวต่างๆ ไปแล้ว ต่อไปจะฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานของตำรวจผู้นี้ซึ่งมีทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนๆ บ้างว่าเขาเหล่านั้นมีความคิดต่อตำรวจผู้นี้อย่างไร
คนแรกบรรณาธิการได้สัมภาษณ์ผู้บังคับบัญชาซึ่งก็คือ ร.ต.อ.วิสุทธิ์ ภิมาลย์ รอง สวป.ปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจผู้ควบคุมงานจราจร
"ในส่วนตัวของผมนะครับ ด.ต.พิทักษ์ฯ เป็นคนที่มีความขยัน ตั้งใจ ในการทำงาน ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่รักของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน และปฏิบัติตัวเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด แม้ผมจะเพิ่งย้ายเข้ามารับราชการที่ สภ.พานใหม่ๆ (1 สิงหาคม 2550 : บรรณาธิการ) แต่เท่าที่เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของเขาถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีได้ทีเดียวครับ รวมไปถึงในส่วนของการครองตน ครองคน ครองงานด้วย" หมวดหนุ่มรูปหล่อให้สัมภาษณ์บรรณาธิการ "สำหรับที่ ด.ต.พิทักษ์ฯ เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและช่วยภรรยาพร้อมกับลูกๆ นี้ถือเป็นภาพที่ดีและน่ายกย่องชมเชย ทั้งกับเพื่อนๆ ตำรวจ ผู้บังคับบัญชาและพี่น้องประชาชน ผมเคยได้ฟังพี่น้องประชาชนคนเมืองพานหลายคนพูดชมเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นภาพที่น่าชื่นชม ยิ่งเห็นวันบางที่เขาแต่งเครื่องแบบครึ่งท่อนหลังเลิกงานแล้วมาบริการแขกด้วยตนเองด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว บอกได้เลยว่าน่าชื่นใจ ผมในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นก็ขอยกย่องชมเชยผ่านบรรณาธิการมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ"

คนต่อไปเป็นเพื่อนร่วมงานจราจรด้วยกันคือ จ.ส.ต.บัณฑิต ดำคำ
"ในความเห็นส่วนของผมที่สัมผัสและทำงานร่วมกับอ้าย(พี่)พิทักษ์มานาน" จ.ส.ต.บัณฑิต ดำคำ เจ้าหน้าที่จราจรหนุ่มรูปหล่อให้สัมภาษณ์กับบรรณาธิการ "อ้ายเขาเป็นคนอัธยาศัยไมตรีดี ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีภาวะผู้นำสูง มีปัญหาสามารถให้คำปรึกษากับผมและเพื่อนๆ ที่ร่วมงานได้ดี จนสามารถแก้ไขเหล่านั้นได้ในที่สุด ในเรื่องของการครองตน ครองคน ครองงาน อ้ายพิทักษ์สามารถเป็นแบบอย่างได้ ทั้งเรื่องการงาน ส่วนตัวและส่วนรวม เท่าที่ผมสังเกตก็เห็นว่าอ้ายพิทักษ์ใช้ชีวิตโดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางจนทำให้ครอบครัวนี้มีความสุข ไม่เคยพบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้อ้ายเขายังเป็นคนร่าเริงแต่ก็แฝงไว้ด้วยความจริงจังและจริงใจต่องานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผมคิดว่าสามารถเป็นแบบอย่างให้กับตำรวจทั่วไปได้เป็นอย่างดีครับ"
นี่แหละครับตำรวจดีๆ ที่กองบรรณาธิการขอยกย่องให้เป็น "ตำรวจดีศรีเมืองพาน" ประจำฉบับนี้ ขอให้เจริญรุ่งเรืองทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว และส่วนตัวตลอดไป ด.ต.พิทักษ์ ทิพย์ศรี

17.2.51

จากใจ สวป.สภ.ศรีวิชัย

พ.ต.ต.บุญหลง อิสระไพศาล : เขียน
ใต้ผืนแผ่นฟ้าอันกว้างใหญ่ ไม่ว่าอยู่แห่งหนใดก็ใต้ฟ้าเดียวกัน...ชีวิตข้าราชการตำรวจ กับการเดินทางไม่มีวันสิ้นสุด สุดแต่...เส้นทางเดินของแต่ละคนจะใกล้หรือไกลแค่ไหน
ตำรวจอยู่คู่กับสังคมเสมอ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน ตามหน้าที่ของ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ตำแหน่ง สารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรศรีวิชัย อำเภอ วานรนิวาส จังหวัด สกลนคร การเดินทางไปรับตำแหน่งนี้ ถึงแม้จะไกลจากบ้านเกิดแค่ไหน แต่ก็มีความสุขกับการเดินทาง เพราะเป็นการเดินทางไปพบกับความฝันที่เป็นจริง...ที่รอคอย
กราบขอบพระคุณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้โอกาสกระผมไปทำงานตำแหน่ง สารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรศรีวิชัย อำเภอ วานรนิวาส จังหวัด สกลนคร
ขอบคุณ ผู้บังคับบัญชา สถานีตำรวจภูธรพาน จังหวัดเชียงราย ทุกท่าน ที่ให้ความเมตตา จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากท่านไปปรับใช้กับงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
ขอบคุณ เพื่อนตำรวจ สถานีตำรวจภูธรพาน ที่ได้ให้ความร่วมมือกับการทำงานด้วยดีเสมอมา ขอบคุณส่วนราชการ,ผู้นำฝ่ายปกครอง,องค์การบริหารส่วนตำบล,เทศบาล,องค์กรต่าง ๆ ,และพี่น้องสายตรวจอาสา,อปพร. ที่ได้ให้ความร่วมมือได้รับการสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน กับการทำงานในตำแหน่ง รองสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรพาน
วันนี้...ถึงแม้จะอยู่แสนไกลแต่ก็พร้อมที่จะรับใช้ท่านเหมือนเดิม เวลาและโอกาสมีเมื่อไหร่จะกลับมารับใช้บ้านเกิดอีกครั้ง...รอวัน...ฝันที่เป็นจริง
จากใจ
พ.ต.ต.บุญหลง อิสระไพศาล
สารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรศรีวิชัยอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

จุดอันตรายในการใช้รถใช้ถนน

ด.ต.สมชาติ เวียงโอสถ : เขียน
สวัสดีครับกระผมดาบตำรวจสมชาติ เวียงโอสถ เจ้าหน้าที่ธุรการงานจราจรสถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน
ขอรายงานจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายในการใช้รถใช้ถนนในเขตพื้นที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพานที่มักจะพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยมาให้ทุกท่านได้รับทราบครับ จุดต่างๆ เหล่านี้จากสถิติที่งานจราจรประมวลมาในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่าเป็นจุดที่ล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเคยเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย แต่บางครั้งก็เกิดอันตรายถึงชีวิตมาแล้ว จุดเสี่ยงเหล่านี้หากบางท่านดูเผินๆ ก็อาจจะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็เลยประมาทขับรถไม่ระมัดระวัง รวมไปถึงเร่งความเร็วเกินกว่าที่จะห้ามล้อได้ทันหากมีกรณีจะต้องหยุดรถ จึงทำให้เกิดปัญหาน่าเศร้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง จุดที่จะกล่าวถึงนี้อยู่บนถนนพหลโยธินสายหลักทั้งสิ้นดังต่อไปนี้ครับ

1. ทางแยกเข้าน้ำตกปูแกง เป็นทางแยกทางโค้ง
2. ทางแยกเข้าหมู่บ้านสันต้นผึ้ง เป็นทางแยก ตำบลม่วงคำ ก.ม.ที่ 778-779
3. จุดกลับรถหน้าโรงพยาบาลพาน เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลม่วงคำ ก.ม.ที่ 779-780
4. จุดกลับรถบ้านท่าหล่ม เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลทานตะวัน ก.ม.ที่ 777-778
5. จุดกลับรถบ้านป่ากว๋าว เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลเมืองพาน ก.ม.ที่ 781-782
6. ทางแยกไปอำเภอป่าแดด เป็นทางแยก ทางโค้ง ตำบลเมืองพาน ก.ม.ที่ 785-786
7. จุดกลับรถหน้าโรงเรียนพานพิเศษพิทยา เป็นจุดกลับรถที่ทำขึ้นเองและเป็นทางโค้ง ตำบลสันติสุข ก.ม.ที่ 786-787
8. จุดกลับรถคลองชลประทานแม่คาวโตน เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลสันกลาง ก.ม.ที่ 788-789
9. จุดกลับรถที่ทำขึ้นเองบ้านแม่คาวโตน ไม่มีสัญญาณจราจร ตำบลสันกลาง ก.ม.ที่ 788-789
10. จุดกลับรถบ้านเจริญเมือง เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลเจริญเมือง ก.ม.ที่ 789-790
11. ทางแยกบ้านเจริญเมือง ไม่มีสัญญาณจราจร ตำบลเจริญเมือง ก.ม.ที่ 789-790
12. บริเวณตลาดสดบ้านทรายขาว เป็นทางโค้ง ไม่มีสัญญาณจราจร ตำบลทรายขาว ก.ม.ที่ 794-795
13. บริเวณตลาดสดบ้านโป่งแดง เป็นจุดที่มีรถจอดข้างทางเป็นจำนวนมาก ตำบลทรายขาว ก.ม.ที่ 795-796
14. จุดกลับรถหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เป็นจุดกลับรถซึ่งคนมักจะขับรถย้อนศร ตำบลทรายขาว ก.ม.ที่ 800-801
15. ทางแยกบ้านศรีหงก เป็นทางลาด ไม่มีสัญญาณไฟและทางโค้ง ตำบลทรายขาว ก.ม.ที่ 801-802
16. ทางแยกบ้านป่ารวก เป็นทางโค้ง ไม่มีสัญญาณจราจร ตำบลธารทอง ก.ม.ที่ 802-803
17. ที่กลับรถใต้สะพานแม่ลาว ไม่มีสัญญาณจราจรและเป็นทางโค้ง ตำบลธารทอง ก.ม.ที่ 802-803

โดยจุดเสี่ยง/จุดอันตรายที่กล่าวข้างต้นนั้น งานจราจรได้ติดตั้งป้ายเตือนในลักษณะต่างๆ ไว้ข้างทางและสังเกตเห็นได้ง่าย ท่านที่ใช้รถใช้ถนนผ่านไปมาบริเวณจุดเหล่านี้กรุณาใช้ความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษด้วยครับ เพราะท่านอาจจะเป็นคนต่อไปที่อาจจะต้องสังเวยชีวิต หรือสูญเสียทรัพย์สิน เงินทองไปโดยที่น่าจะป้องกันได้ อยากจะฝากทุกท่านไว้นะครับว่า กฎจราจรคือกฎแห่งความปลอดภัยและทุกท่านสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก ปฏิบัติตามกฎจราจรเสียแต่วันนี้ ดีกว่าจะต้องมานั่งเสียใจในวันหน้านะครับ ครอบครัวของท่านรอท่านอยู่ ยังไม่ต้องการให้ท่าน "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น" ครับ

อีกประการหนึ่งที่อยากจะแจ้งให้ทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านๆ ที่ไม่ใช่คนเหนือหรือไม่เคยใช้หรือรับทราบวิถีชีวิตของคนทางเหนือได้รับทราบไว้ นั่นก็คือหากท่านสัญจรผ่านไปมาตามเส้นทางถนนต่างๆ ในภูมิภาคภาคเหนือนั้น หากท่านเห็น "ตุงแดง" (ดังภาพประกอบ) นั้นหมายความว่าบริเวณที่ปักนั้นก่อนหน้านี้เคยมีอุบัติเหตุหรือเหตุที่ตายเพราะการใช้รถใช้ถนนมาแล้ว หากท่านพบเห็น "ตุงแดง" เหล่านี้ ขอความกรุณาใช้ความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าคนตายจะมาหลอกมาหลอนหรือทำอะไรท่านได้หรอกครับ แต่นั่นคืออุทาหรณ์สำหรับเตือนสติผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านไปผ่านมาพึงระวังนะครับ งานจราจร สภ.อ.พานของเราหวังเป็นอย่างยิ่งจุดใดจุดหนึ่งที่จะมีการปัก "ตุงแดง" ในอนาคตข้างหน้านั้นคงไม่ใช่ท่านอย่างแน่นอนหากท่านมีสติและระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนครับ ฝากกันไว้นะครับ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ.......

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนน

ร.ต.อ.วิสุทธิ์ ภิมาลย์ : เขียน
การขับขี่อย่างปลอดภัยเราทำได้
อุบัติเหตุทุกชนิดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของประเทศไทย รองลงมาจากโรคหัวใจและมะเร็งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับยานพาหนะที่บ่อยที่สุด 4 ประเภท อันดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดใหญ่ อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ต่อปี
สถิติอุบัติเหตุระหว่าง 29 ธ.ค.46 ถึง 4 ม.ค. 47 รวม 7 วัน มียอดผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 628 ราย บาดเจ็บ 26,100 คนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือนครราชสีมา
สถิติอุบัติเหตุระหว่าง 29 ม.ค.47 ถึง 4 ม.ค.48 รวม 7 วัน จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 467 ราย บาดเจ็บ 6,885 คน สถิติผู้เสียชีวิตลดลง 161 รายและบาดเจ็บลดลง 19,215 คน
อุบัติเหตุไม่ใช่เกิดจากเหตุบังเอิญ ไม่ใช่กรรมเวรหรือพรหมลิขิต ดังนั้นอุบัติเหตุส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้หากมีความตระหนักถึงพิษภัยและไม่ประมาท
สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเหตุบังเอิญหรือพรหมลิขิต แต่เกิดขึ้นจากการเตรียมการที่ไม่ดีและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นอุบัติเหตุส่วนใหญ่สามารถจะป้องกันได้
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายหรือพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของคนซึ่งจะมีสาเหตุที่แน่ชัดดังนี้
1. ความบกพร่องของคน ในคนเรานั้นประกอบด้วยกายและจิต ถ้ามีความบกพร่องส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
1.1 ความบกพร่องทางกาย ความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สายตาสั้น ตาบอดสี หูตึง มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวานทำให้การมีปฏิกิริยาตอบสนองเชื่องช้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ
1.2 ความบกพร่องทางจิตและอารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์ขุ่นมัว โกรธ แค้นเคือง หรือผิดหวังจะแสดงออกทางการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ปลอดภัย การเสพยาบางชนิด เช่น ยาบ้า ยาขยัน ยาเสพติด ยานอนหลับและสุรา จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. ความบกพร่องของวัตถุและเครื่องจักร บรรดาเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาอาจขาดความมั่นคงแข็งแรง วัสดุของใช้ที่เก่าชำรุด เสื่อมสภาพก็ยิ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยยิ่งขึ้น
3. สภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฝนตก พายุ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หมอกลงจัด ถนนลื่นเพราะน้ำฝน โคลนถล่ม ควันไฟที่หนาทึบ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ บางครั้งเรียกว่า “ภัยพิบัติจากธรรมชาติ”

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจร
ลักษณะ 10 รถจักรยาน
มาตรา 79 ทางที่ได้จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับในทางนั้น
มาตรา 80 รถจักรยานที่ใช้ในทางเดินรถ ไหล่ทางหรือที่จัดไว้สำหรับจักรยาน ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องจัดให้มี
(1) กระดิ่งที่ให้เสียงสัญญาณได้ยินได้ในระยะไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร
(2) เครื่องห้ามล้อที่ใช้การได้ดี เมื่อใช้สามารถทำให้รถจักรยานหยุดได้ทันที
(3) โคมไฟติดหน้ารถจักรยานแสงขาวไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงไฟส่องตรงไปข้างหน้าเห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่าสิบห้าเมตร และอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมา
(4) โคมไฟติดท้ายรถจักรยานแสงแดงไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลังหรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน ซึ่งเมื่อถูกส่องให้มีแสงสะท้อน
มาตรา 81 ในเวลาต้องเปิดไฟตามมาตรา 11 หรือมาตรา 61 ผู้ขับขี่รถจักรยานอยู่ในทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยานต้องจุดโคมไฟ
มาตรา 82 ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับให้ชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถต้องขับขี่รถจักรยานให้ชิดช่องเดินรถประจำทางนั้น
มาตรา 83 ในทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยานห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยาน
(1) ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน
(2) ขับรถโดยไม่จับคันบังคับ
(3) ขับรถขนานกันเกินกว่าสองคัน เว้นแต่ขับในทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยาน
(4) ขับโดยนั่งบนที่อื่นอันมิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ
(5) ขับโดยบรรทุกคนอื่นเว้นแต่รถจักรยานสามล้อสำหรับบรรทุกคน ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
(6) บรรทุก หรือถือสิ่งของ หีบห่อ หรือของใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจับคันบังคับรถหรืออันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
(7) เกาะหรือพ่วงรถอื่นที่กำลังแล่นอยู่
บทกำหนดโทษ ฝ่าฝืน มาตรา 79 80 81 82 ปรับไม่เกินสองร้อยบาท
ฝ่าฝืนมาตรา 83 ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ความรู้สึกดีๆ ที่เมืองพาน

พ.ต.ต.ภูมิปรีชา เผ่าปินตา : เขียน
กาลเวลาหมุนเปลี่ยนเวียนไปวันแล้ววันเล่า จากอดีตสู่ปัจจุบัน จากปัจจุบันสู่อนาคต เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสัจจะธรรมที่ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงหรือหยุดยั้งมันได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้คือความรู้สึกที่ดีและความประทับใจในประสบการณ์ชีวิตของผมที่ได้ สัมผัสในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตรับราชการเป็นตำรวจอยู่ที่ สภ.อ.พาน ซึ่งอำเภอพานเป็นสถานที่แรกที่ผมเริ่มใช้ชีวิตของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และเป็นจุดเปลี่ยนผันชีวิตของผมหลังจากเรียนจบจากโรงเรียนพลตำรวจภูธร 5 ลำปาง เป็นจุดหมายที่ผมเป็นคนเลือกเอง ถึงแม้ว่าชีวิตตำรวจของผมจะไม่เด่นดังอะไรนักหนา แต่ผมก็มีความประทับใจกับชีวิตในสภาพแวดล้อมและสังคมของเมืองพาน ซึ่งมีทั้งความอบอุ่นและความมีน้ำใจของสังคมคนเมืองพาน โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงานเพื่อนร่วมสังคม สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าไม่เพียงแต่ผมคนเดียวที่มีความประทับใจแต่มีอีกหลายคนที่ได้มาสัมผัสกับสังคมเมืองพานแล้วไม่สามารถที่จะตัดใจจากไปที่อื่นได้ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมเมืองพานและใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองพานนี้ตลอดไป
จริงอยู่คนเราไม่มีใครที่จะไม่เคยทำอะไรที่ผิดพลาดหรือทำอะไรที่ไม่ถูกใจผู้อื่นผมก็เช่นกันแต่สิ่งที่ทำไปนั้นมันขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละบุคคล ซึ่งสำหรับผมสำนึกอยู่เสมอว่า เราไม่สามารถที่จะทำอะไรให้ถูกใจคนทั้งโลกได้ แต่ควรจะทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั้นคือเป้าหมายชีวิตในการทำงานของผมที่ถือปฏิบัติและจะยึดถือปฏิบัติตลอดไป
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่ผมจะต้องเดินทางจากเมืองพานไปปฏิบัติหน้าที่ในที่อื่น ซึ่งผมคิดไว้ในส่วนลึกของความรู้สึกว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่เมืองพานอีก ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันสำเนาทะเบียนบ้านของผมที่อยู่ตำบลเมืองพานและความรู้สึกของผมก็เป็นคนของเมืองพานอยู่ตลอดเวลา ถึงอย่างไรก็ต้องกลับเมืองพานบ้านเราอยู่ดี
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณผู้บังคับบัญชาทุกท่านที่เมตตาตลอดถึงเพื่อนข้าราชการตำรวจและข้าราชการหน่วยงานใกล้เคียง ตลอดถึงพลังมวลชน พี่น้องสายตรวจอาสา อปพร. และฝ่ายปกครอง ในความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ร่วมปฏิบัติงานกันมาซึ่งผมประทับใจในน้ำใจและความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง หวังเอาไว้ว่าโอกาสข้างหน้าจะได้กลับมาร่วมงานกันใหม่เมื่อชาติต้องการขอความสุขสวัสดีจงมีแก่พี่น้องชาวอำเภอพานที่รักทุกๆท่าน

จากใจนักบินสายตรวจทางอากาศ

ร.ต.อ.บุญหลง อิสระไพศาล : เขียน
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกคนมีความฝันอาจะเป็นฝันมาแต่ในอดีต หรือฝันในปัจจุบัน นั่นขึ้นอยู่กับความฝันของแต่ละคน..แต่ว่า..จะใครบ้างที่ฝันนั้นมาจาก.....ความไม่คาดฝัน..อย่าเพิ่งงง นะครับ
ผมกำลังพูดถึง สิ่งที่ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับตัวผมที่ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่า ผมจะบินได้ดั่งนกน้อย ที่บินล่องลอยอยู่กลางเวหา ชมทิวทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิต ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ได้เห็นทุ่งนากว้างใหญ่เขียวขจีเมื่อฤดูหน้าเพาะปลูก เห็นท้องทุ่งสีทอง เมื่อหน้าข้าวออกรวง เห็นบ่อเลี้ยงปลา และอีกมากมายหลายอย่าง นั่นหมายถึงได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อำเภอพาน ที่มองเห็นจากบนฟ้า ซึ่งคงจะมีไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เห็น ทั้งอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง การสัญจรของผู้คนและยานพาหนะ การที่เราบินได้ดั่งนก สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ บนพื้นที่อำเภอพาน พบและเห็นทุกอณูของพื้นที่ และนำสิ่งที่ทำให้เราบินได้นั้น มาปรับใช้เพื่อช่วยงานด้านป้องกันปราบปรามของตำรวจ ช่วยเหลือภารกิจของหน่วยงานอื่น รวมถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับด้วย
ผมกำลังพูดถึง พารามอเตอร์หรือร่มบินที่ทาง สภ.อ.พาน จว.เชียงราย ได้นำความมีประโยชน์ของพารามอเตอร์หรือร่มบิน มาเป็นสายตรวจทางอากาศ เพื่องานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ,ยาเสพติด ,คนร้ายหลบหนี ,งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ,งานกู้ภัย ,เก็บข้อมูลทุกชนิดในพื้นที่ งานจราจร และงานมวลชนสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้มีความสุขผ่อนคลาย ได้ตื่นตาตื่นใจกับการบินโชว์ในงานต่าง ๆ นั่นหมายถึงตำรวจกับประชาชนได้อยู่ใกล้ชิดกันมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น
ผมเป็นหนึ่งในนักบินพารามอเตอร์ และเป็นหนึ่งในนักบินสายตรวจทางอากาศของ สภ.อ.พาน ที่ได้บินออกตรวจสำรวจพื้นที่ กล้ายืนยันในประสิทธิภาพของสายตรวจทางอากาศ ว่ามีประโยชน์มหาศาลต่อพี่น้องประชาชนแน่นอน
ใคร่ขอเชิญชวนนักฝันที่อย่างบินได้ดั่งนกน้อยที่มีอิสระเสรีบินล่องลอย อยู่บนฟากฟ้า แล้วท่านจะเป็นคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เป็นคนเหนือคน(เหนือคนตอนที่บินอยู่บนฟ้านะครับ) และอย่าบอกว่าไม่กล้าเพราะกลัวความสูง ลองมาบินก่อน รับรองได้บินแล้วเรียกไม่ยอมลง แน่นอน เชื่อผมซิครับ เพราะผมกลัวความสูงมากกว่าท่านเสียอีก แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ…เราได้ทำคุณประโยชน์เพื่อประชาชน เพื่อแผ่นดินที่อยู่อาศัย นั่นคือความภาคภูมิใจ
สนใจอยากให้ฝันเป็นจริง อยากบินได้ดั่งนกน้อยติดต่อสอบถามได้ที่ สภ.อ.พาน จว.เชียงราย โทร. 053-721515

ความคิดเห็นของเยาวชนต่อตำรวจ

นางสาววิมล ลิขิตานุสิทธิ์ : เขียน
สวัสดีค่ะดิฉันชื่อนางสาววิมล ลิขิตานุสิทธิ์ ดิฉันอยากจะมาเล่าความรู้สึกที่ดิฉันมีต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน
ดิฉันเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอพานนี้ อีกทั้งดิฉันก็เป็นบุคคลคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนมาตลอด
ดิฉันพูดไปตอนนี้บางคนบางกลุ่มที่ได้เข้ามาอ่านในเว็บไซต์นี้อาจจะงงอยู่บ้างที่พูดถึงกลุ่มเยาวชน กลุ่มเยาวชนนี้ได้จัดตั้งโดยคณะตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน ตลอดเวลาที่ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และร่วมทำงานนั้นดิฉันก็ได้ใกล้ชิดกับตำรวจแต่ละคนดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจมาก และที่สำคัญตำรวจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ดิฉันคิดเอาไว้เมื่อตะก่อน ประชาชนข้างนอกที่ยังไม่ได้มาใกล้ชิดกับคณะตำรวจบางคนอาจจะคิดว่าตำรวจไม่น่าคบชอบข่มขู่ประชาชนอะไรนิดอะไรหน่อยก็จับประชาชน บางคนบางกลุ่มอาจจะไม่พอใจแต่ที่จริงเขาทำตามหน้าที่ต่างหาก ตำรวจแต่ละคนไม่อยากจะจับใครทั้งนั้น ที่จับไปเพราะทำผิดกฎจราจร ถ้าใครได้เข้ามาได้เรียนรู้ได้ร่วมงานและได้เข้ามาใกล้ชิดกับคณะตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานแล้วก็จะรู้ว่าแต่ละคนตั้งใจทำงานมากเพื่อที่จะให้ชาวอำเภอพานของเราอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขและร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอำเภอพานแห่งนี้ อีกทั้งยังสามารถปรึกษาได้ยามที่เรามีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เอง คณะตำรวจที่นี่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านได้ ตำรวจที่นี่เป็นคนชอบสนุกสนาน ท่านไม่ต้องว่าจะเครียดกับการที่ได้เข้าปรึกษาหารือเพราะตำรวจที่นี่ใจดี เฮฮา เวลาท่านเครียดท่านยังสามารถที่จะมาที่สถานีตำรวจอำเภอพานนี้ได้นะคะ ดิฉันรับรองเลยว่าท่านไม่ผิดหวังแน่ค่ะ เห็นหรือยังคะว่าบ้านส่วนกลาง (สถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน) ที่ท่านกลัวนักกลัวหนาไม่อยากจะเข้าไป ไม่อยากจะไปแวะเวียน ไม่อยากจะไปเที่ยว มิยักรู้ว่าที่นี่เป็นเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของท่านเอง และก็เป็นที่ที่ท่านจะต้องเข้ามาเพื่อจะมาขอความช่วยเหลือซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่แล้ว ยามที่ท่านของหายท่านก็มาแจ้งความ ยามที่ท่านโดนโกงท่านก็มาแจ้งความหรือเรื่องต่าง ๆ ที่ท่านไม่พอใจท่านก็ต้องเข้ามาแจ้งความ ซึ่งบ้านหลังนี้ช่วยท่านโดยที่คณะตำรวจจะเป็นคนดำเนินการให้กับท่านเองโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรเลย ดิฉันคิดว่าตำรวจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อประชาชนอย่างมาก ก็เหมือนกับตำรวจนายอำเภอก็มีความสำคัญกับเขตพื้นที่อำเภอมาก คอยตรวจดูแลความเรียบร้อยถึงกับไม่ดีถึง100% แต่ทุกคนก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ดิฉันภูมิใจค่ะที่มีคณะตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานมาทำหน้าที่เพื่อจะให้ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ดิฉันไม่ได้โฆษณาแต่ดิฉันพูดความจริงและพูดออกมาจากใจ ไม่ได้สัมผัสใคร ไม่ได้เข้าไปเห็นและเข้าไปร่วมงานด้วยจะไม่รู้เลยว่าคณะตำรวจที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันเข้าไปแล้วถึงสามารถพูดออกมาได้อย่างเต็มปาก ที่ดิฉันพูดออกมาได้นี้ก็เพราะดิฉันได้เข้าสถานีตำรวจบ่อยเหมือนกับเป็นบ้านได้เลย อย่างที่บอกไปเมื่อก่อนดิฉันไม่ชอบตำรวจเพราะคิดว่าตำรวจชอบปอกลอกประชาชนเนื่องอะไรนิดอะไรหน่อยก็จับ จับได้ตลอดจนเกลียดตำรวจไปเลย แต่ตอนนี้ความคิดได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

รับผิดชอบต่อตนเองเท่ากับรับผิดชอบต่อประเทศชาติ

ร.ต.อ.ภูมิปรีชา เผ่าปินตา : เขียน
สวัสดีครับ ขออนุญาตรายงานตัว กระผม ร.ต.อ.ภูมิปรีชา เผ่าปินตา รอง สว.จร.สภ.อ.พาน รับผิดชอบควบคุมและจัดการจราจรในเขตพื้นที่อำเภอพานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกและปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชน
ที่ขึ้นต้นคอลัมน์ว่ารับผิดชอบต่อตนเองเท่ากับรับผิดชอบต่อประเทศชาตินั้น ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนไม่มีความรับผิดชอบหรือจะให้ทุกคนต้องแบกภาระรับผิดชอบประเทศซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ แต่กระผมหมายถึงเพียงอยากให้คนไทยทุกคนใส่ใจดูแลรับผิดชอบตัวเองตามภาระหน้าที่ของประชาชนคนไทย แน่นอนครับสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงคงหนีไม่พ้นเรื่องของการจราจร ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบ และก็เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้และยิ่งจะมีแนวโน้มว่าปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพความเจริญของบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา 7 วันอันตราย อันตรายจริงๆ ครับ เคยมีคนเปรียบเปรยว่าประเทศสหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไปรบในอาฟกานิสถานเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนมีทหารตายน้อยกว่าคนไทยที่ขับรถไปเที่ยวสงกรานต์แล้วเอาน้ำสาดกันเพียงแค่ 7 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดมากนะครับ เอาละ ขอวกกลับมาที่อำเภอพานบ้านเราเกี่ยวกับปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็ไม่ได้น้อยหน้าโผล่ขึ้นมาวันแรก( 11 เม.ย.50) เกิดอุบัติเหตุ 5 ราย ตาย 1 ราย ครองแชมป์ของจังหวัดเชียงราย พอครบ 7 วัน สรุปยอดอำเภอพาน เกิดอุบัติเหตุ 12 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 8 คน สาหัส 5 คน ตาย 2 ราย และจังหวัดเชียงรายเกิด 167 ราย ตาย 8 ราย ได้ตำแหน่งแชมป์อุบัติเหตุเกิดสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งแชมป์ที่จังหวัดอื่นหรือใครก็ไม่ต้องการแต่เชียงรายเราได้รับมา น่าคิดนะครับ ทีนี้ลองมามองถึงปัญหาหรือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก็สรุปสาเหตุมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ เมาสุรา ไม่ใส่หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อกเป็นปัจจัยสูงสุด ซึ่งสาเหตุนี้ก็สรุปออกมาทุกปี แต่ก็ยังป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้สักที ทำไมหรือครับ ความรับผิดชอบต่อตนเองนั่นแหละคือสาเหตุที่ทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ ความรับผิดชอบต่อตนเองของสังคมไทยเรายังมีน้อยมาก ยกตัวอย่าง จะสังเกตเห็นได้ง่ายๆ พื้นที่อำเภอพาน ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ 10 คนจะใส่หมวกกันน็อกไม่ถึง 3 คน และยังมีบางคนมีหมวก ฯ แต่วางไว้ในตะกร้าหน้ารถฯ หรือไม่ก็แขวนไว้ที่แฮนด์รถ และยังมีหลายคนใส่หมวกฯ แต่ไม่ได้คาดสายรัดคางหรือคาดก็คาดแบบหลวมๆ และไม่รวมผู้โดยสารซึ่งมีน้อยมากที่จะป้องกันตัวเอง นี่ยังไม่รวมถึงความรับผิดชอบในการเสียภาษีประจำปี การจัดทำประกันภัยฯ และอื่นๆ ถ้าจะบอกว่าไม่รู้คงไม่น่าจะใช่เสียทีเดียวเพราะดูแล้วบางคนเป็นผู้มีความรู้หรือน่าจะมีความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ถึงความรับผิดชอบต่อตนเองของผู้ขับขี่ บางท่านอาจจะแย้งว่าแล้วตำรวจมีหน้าที่จับกุมทำไมไม่จับ ละทิ้งหน้าที่ใช่ไหม ! เปล่าเลยครับเราพยายามเต็มที่แล้ว แต่สภาพสังคมไทยซึ่งทุกคนก็รู้ว่ามีหากการบังคับใช้กฎระเบียบมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการต่อต้าน ทำให้ไม่สามารถที่จะทำได้และการจับกุมก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเพราะว่าคงไม่มีตำรวจประเทศไหนที่จะตามไปควบคุมพฤติกรรมของประชาชนได้ทุกฝีก้าว ทางแก้ที่ดีที่สุดคือสร้างความรับผิดชอบต่อตนเองให้เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งเมื่อเรามีความรับผิดชอบต่อตนเองก็เป็นการช่วยกันแบ่งเบาความรับผิดชอบต่อประเทศชาติด้วย เพราะว่าความสูญเสียทั้งชีวิตและร่างกายจากอุบัติเหตุแต่ละครั้งคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจชองประเทศชาติ ดังนั้นการรักประเทศชาติรักในหลวงอย่าทำแต่เพียงคำพูดหรือแสดงออกด้วยการติดธงหรือสวมเสื้อผ้าเท่านั้น หากแต่ควรที่จะแสดงออกด้วยการรับผิดชอบต่อตนเอง การตระหนักถึงอุบัติเหตุและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของประชาชนคนไทยก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง
ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีจากกระผม ร.ต.อ.ภูมิปรีชา เผ่าปินตา สวัสดีครับ

การใช้วิทยุสื่อสาร

ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ : เขียน
ผม ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.อ.พาน ปฏิบัติหน้าที่พนักงานวิทยุประจำศูนย์ฯ มาเกือบ 20 ปี เคยผ่านการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมวิชาเทคนิคสื่อสาร กก.3 บก.สส. หลักสูตรพนักงานสื่อสารเร่งรัด รุ่นที่ 17 ระยะเวลาการฝึกอบรม 33 วัน แต่วันนี้ผมจะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ เครื่องรับ – ส่ง วิทยุมือถือ ในหัวข้อเรื่อง วิชาเทคนิคสื่อสาร รวมทั้งการแจ้งเหตุและติดต่อประสานงานฯ
มนุษย์เรานั้นรู้จักการติดต่อสื่อสารมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้วโดยการใช้สิ่งของ เครื่องหมายเห็นสัญลักษณ์แทนในการสื่อความหมายต่าง ๆ ในยุคนั้น ๆ และได้พัฒนามาตามยุคสมัยจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคอิเลคทรอนิคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลกก็ติดต่อกันได้
การติดต่อสื่อสารนั้นมีหลายวิธีหลายรูปแบบแล้วแต่เวลา โอกาส และสถานที่การติดต่อสื่อสารทางวิทยุนั้น สะดวก รวดเร็วและประหยัด นับว่าเป็นวิธีการติดต่อง่ายที่สุด แต่ปัจจุบันนี้การรับ ส่งข่าวสารทางเครื่องโทรสาร (FAX) สะดวก รวดเร็วกว่า และยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไฮเทคที่สุด คือ การรับ ส่ง ข่าวสารทางอิเลคทรอนิค หรือที่ที่เรียกว่า ระบบ E-COP ซึ่งทาง สภ.อ.พาน ได้รวมห้องวิทยุสื่อสารและห้องศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเข้าด้วยกัน เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวฯ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ผมเองทุกวันนี้ก็ฝึกรับ ส่ง ข่าวสาร อิเลคทรอนิค จากท่าน สวป.ฯ และเจ้าหน้าที่ E-cop อยู่เหมือนกัน
การติดต่อสื่อสารทางวิทยุนั้นทุกคนต้องมีรหัสนามเรียกขานของตนเอง และต้องรู้ความหายของรหัสโค้ด ว. ต่าง ๆ (ซึ่ง รหัส ว. ที่แจกให้จะอธิบายให้ทราบตอนท้ายอีกครั้งว่า ว. ใดบ้างที่ใช้บ่อย ๆ และควรจำ ) ก่อนอื่นจะแจ้งให้ทราบไว้ก่อนว่าการมีและใช้เครื่องรับ – ส่ง วิทยุนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และใช้อยู่ในความถี่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่วันนี้เราจะไม่กล่าวถึงในเรื่องของการถูก ผิด แต่จะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง ใช้ให้เป็นและเป็นใช้มากกว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องอายใคร
ก่อนจะใช้วิทยุให้สำรวจว่าวิทยุของท่านอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานหรือไม่ ควรใช้วิทยุให้ห่างจากปากประมาณ 1 ฝ่ามือ (บางคนใช้วิทยุห่างจนสุดช่วงแขนทำให้เสียงที่ออกไปเบามากทั้งที่สัญญาณคลื่นส่งออกไปเต็ม และบางคนพูดวิทยุใกล้ปากมากเกินไป จนได้ยินเสียงหายใจดังออกอากาศ บางคนพูดก่อนกดคีย์และปล่อยคีย์ก่อนจบ ข้อความจึงไม่สมบูรณ์ บางคนปล่อยคีย์ช้า ทำให้คู่สถานีไม่สามารถตอบได้ทันทีทำให้เสียเวลา)
การใช้เครื่องคับส่งวิทยุมือถือให้ถูกต้องและติดต่อได้ไกลนั้นจะต้องดึงสายอากาศออกให้ยาวที่สุดและอยู่ในแนวดิ่ง ควรใช้วิทยุในที่โล่งแจ้งให้ห่างจากอาคาร ต้นไม้ และสิ่งกีดขางอื่น ๆ อย่างน้อย 5 เมตร โดยเฉพาะอาคารและสิ่งกีดขวางนั้นมีโลหะและมีโครงเหล็กเป็นการก่อสร้างควรอยู่บนเนินหรือที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ในหุบเขาหรือซอกตึกไม่อยู่ใต้สายไฟแรงสูง หรือสายโทรศัพท์ภายในรัศมี 10 เมตร ( เช่นตู้ยามม่วงคำเวลาติดต่อไปที่ศูนย์วิทยุพานจะใช้วิทยุให้ห่างจากรัศมี 10 เมตรใต้สายไฟแรงสูง) สำรวจแบตเตอรี่ประจุไฟเต็มหรือไม่ หามใช้วิทยุจนแบตเตอรี่หมดเพราะจะทำให้แบตเตอรี่ชำรุดอย่างถาวร หากมีสัญญาณเตือนให้นำไปชาร์ทไฟทันที อย่าใช้วิทยุในอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ( เช่นทิ้งวิทยุในรถยนต์โดยตากแดดจัด หากเรียกสถานีไม่ได้อย่าเรียกต่อไปเพราะอาจทำให้เครื่องวิทยุเสียหากสายอากาศชำรุดมองเห็นได้ชัดเจน ห้ามกดคีย์เป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เครื่องวิทยุเสียได้)
การใช้วิทยุจะต้องใช้ถ้อยคำหรือประโยคสั้น ๆ แต่ให้ได้ความหมายชัดเจนซึ่งอาจกำหนดได้โดยการใช้รหัสหรือโค้ด ว. ขึ้นมาแทน ตัวบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันระหว่างข่ายการสื่อสารเดียวกัน การใช้โค้ด ว. นั้นต้องใช้ให้ตรงความหมายไม่ควรดัดแปลงผิดเพี้ยนหรือต่อเติมให้ยืดยาวกว่าเดิมจะต้องใช้ให้ตรงความหมายที่กำหนดไว้ไม่ควรใช้ในลักษณะยึดถือว่าตามกันมา ( เช่น ใช้คำว่า แหวน แทน วิทยุ ควรให้คำว่า ว. หรือ วิทยุ ใช้คำว่า โมบาย แทนคำว่า รถ ควรใช้คำว่า 03 หรือกำลังขับรถ , อยู่ในรถ ใช้คำว่าล้อหมุน แทนคำว่า ว.21 หรือเคลื่อนที่ ซึ่งคำว่า แหวน , โมบาย , ล้อหมุน นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ควรใช้ในข่ายการสื่อสาร) การอ่านออกเสียงในภาษาสื่อสารทางวิทยุไม่ใช้ข้อความซ้ำเช่น ม่วงคำ 001 ม่วงคำ 001 พาน 002 ว.2 ควรออกเสียงว่า ม่วงคำ 001 จาก พาน 002 เปลี่ยน หรือภาษาแสลง เช่น รพ. ไม่อ่านออกเสียงว่า เรือพาน ให้อ่านออกเสียงว่า รพ. หรือโรงพยาบาล 1. ไม่ออกเสียงว่าเอี่ยวหรือเอ็ดให้อ่านออกเสียงว่า หนึ่ง 2. ไม่อ่านออกเสียงโท ให้อ่านออกเสียงว่า สอง 444 ไม่อ่านออกเสียงว่า ตองสี่ เพราะผู้รับข่าวอาจรับเป็น 24 เพราะคำว่า ตองพ้องเสียงกับคำว่า 2 ( ให้อ่านออกเสียงว่า สี่ สี่ สี่ หรือ 111 ไม่อ่านออกเสียงว่า ตองหนึ่ง ให้ อ่านออกเสียงว่า หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง หรือ 229 ไม่อ่านออกเสียงว่า โทโทเก้า ให้อ่านว่า สอง สอง เก้า และ ว.2 ว.8 ไม่อ่านออกเสียงว่า สองแปด ซึ่งไม่ถูกต้อง
การติดต่อสื่อสารที่ถูกต้องนั้นต้องเรียกคู่สถานีก่อนตามด้วยนามเรียกขานของตนเอง และปิดท้ายด้วย ว.2 ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อ 1 ช่วง การเรียกขาน (ตามระเบียบการสื่อสารแต่ส่วนมากจะเรียกกันเกินกว่านั้น ) หากติดต่อไปไม่ได้ให้เว้นช่วงไว้ก่อนจึงค่อยติดต่อเป็นระยะๆ ถ้าเร่งด่วนทุก 5 หรือ 10 นาทีก็ทำได้)
ข้อปฏิบัติและมารยาทในการใช้วิทยุสื่อสาร
1.ใช้ข้อความสั้น ๆ กะทัดรัดได้ใจความ ไม่ใช้ข้อความเกินความจำเป็นและไม่ควรเปลี่ยนแปลง โค้ด ว. ไปลักษณะเชิงพูดเล่น เช่น ว.4 ทางน้ำ
2.ต้องใช้ภาษาราชการหรือภาษาไทยกลางเท่านั้น ไม่ใช้ภาษาท้องถิ่นถึงแม้คู่สถานี (ผู้ที่เรากำลังติดต่อทางวิทยุด้วย) จะเป็นคนท้องถิ่นเดียวกันและเพราะผู้ฟังอื่นไม่เข้าใจได้ทั้งหมดเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งเชื้อชาติเป็นทางให้เกิดความแตกแยกสามัคคี
3.ต้องใช้เฉพาะความถี่ที่ที่หน่วยงานของตนได้รับอนุญาตเท่านั้นเพราะการออกนอกความถี่อาจไปรบกวนความถี่ต่างข่ายงานทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานอื่น ๆ ได้ (ข้อนี้เป็นการผ่อนผันระหว่างฝ่ายปกครองกับข่ายตำรวจ สภ.อ.พาน เพื่อการประสานงานร่วมกัน )
4. ต้องขออนุญาตสถานีควบคุมข่ายก่อนเมื่อจะติดต่อสื่อสารกันโดยตรง การติดต่อโดยตรงระหว่างลูกข่าย ต้องแจ้งแม่ข่ายทราย ไม่สมควรเรียกเข้าต่างข่ายงานด้วยตนเอง (ยกเว้นกรณีฉุกเฉินรอไม่ได้) เพราะนามเรียกขานอาจซ้ำกับลูกข่ายนั้นฯ
5. ต้องไม่ใช้ช่องสื่อสารในขณะที่ยังมีการรับ ส่งข่าวสารกันอยู่ ไม่ควรเรียกแทรกเข้าไปในขณะที่การรับส่งข่าวสารในความถี่นั้นฯ ยังไม่เสร็จสิ้นเพราะอาจทำให้เสียหายต่อทางราชการ (ยกเว้นการแจ้งเหตุซึ่งสามารถกระทำได้ทันทีจะได้กล่าวถึงในช่วงต่อไป) ผมถึงบอกว่าก่อนที่จะติดต่อทางวิทยุให้ยกขึ้นมาแนบหูฟังดูก่อนว่าคลื่นความถี่ของคู่สถานีที่เราต้องติดต่อนั้นว่างหรือไม่
6. ต้องไม่ส่งเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือรายการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเสียงแปลกประหลาดออกอากาศ หรือชอบทำคีย์ค้างบ่อย ๆ เป็นประจำ คงเป็นการจงใจให้ค้างเป็นแน่ ๆ การประชาพันธ์บนความถี่ทำได้เฉพาะสถานีควบคุมข่าย และโดยพนักงานวิทยุที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
7. ต้องไม่วิจารณ์ บุคคล การเมือง การค้า ศาสนา หรือส่งข้อความที่เป็นการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง การวิจารณ์ย่อมเกิดข้อขัดแย้ง การพูดหรือวิจารณ์ในส่วนที่มีผลประโยชน์ผู้เสียผลประโยชน์เกิดความแค้น อาจก่อให้เกิดการรบกวนช่องความถี่สื่อสารโดยการจงใจ
8. ต้องไม่แอบอ้าง หรือใช้นามเรียกขานของคนอื่น และไม่ให้ผู้อื่นนำนามเรียกขานของตนเองไปใช้ ( ข้อนี้ยังมีตำรวจบางนายซึ่งไม่ทราบข้อปฏิบัติและมารยาทในการใช้วิทยุสื่อสารการะทำอยู่ ซึ่งไม่ควรเอาอย่าง)
9. ต้องไม่ให้ผู้อื่นหยิบยืมเครื่องมือสื่อสารของตนเองไปใช้ ยกเว้นการนำเครื่องกองกลางไป
ปฏิบัติงานชั่วคราว โดยได้ดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น
10. ต้องพกพาวิทยุสื่อสารในลักษณะเหมาะสม เปิดเครื่องได้ก็ควรกระทำ และอีกสาถนการณ์หนึ่งหากตัวเราเข้าไปอยู่ในบริเวณที่กลุ่มมิจฉาชีพ หรือญาติของผู้ที่ประกอบการผิดกฎหมายและเราเปิดวิทยุเสียงดังแล้วคนร้ายย่อมได้ยินและรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้
ท่านที่มีและใช้วิทยุอยู่พึงระลึกอยู่เสมอว่าไม่มีความลับบนความถี่จะกดคีย์ให้คิดก่อน เพราะว่าหากท่าน ว. ส่งข้อความไปแล้วทุกคนที่มี ว. และเปิดในย่านความถี่นั้นฯ ก็สามารถรับฟังข้อความของท่านได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่ส่งข้อความออกไปทาง ว. ให้คิดก่อนว่าต้องการพูดกับใคร เรื่องอะไร อยู่ในย่านความถี่ใด มีอยู่บ่อย ๆ ว.เปิดย่านความถี่ตำรวจพาน แต่ส่ง ว. เป็นว่า ขออนุญาต ไชยา ... เรียกอยู่นั่นแหละเป็น สิบกว่าครั้ง ก็มันต่างคลื่นความถี่ จะ ว. 2 ได้ยังไง ( หวังว่าต่อไปกรณีนี้ในส่วนของตำบลม่วงคำคงจะไม่มีให้ได้ยินอีกนะครับ)
การแจ้งเหตุสามารถแจ้งได้ทันทีโดยทำได้ดังนี้ ขออนุญาตแจ้งเหตุ พาน จาก ม่วงคำ .. ว.2 เมื่อ พานตอบ ว.2 แล้วก็แจ้งเหตุเป็นข้อความ (ว.8) เข้าไป แต่ต้องเป็นเหตุด่วน เหตุร้าย เหตุเร่งด่วนจริง ๆ ถ้าหากไม่เป็นกรณีเร่งด่วนให้ย่านความถี่ว่างก่อนค่อยเรียกเข้าไปในย่านความถี่นั้น ๆ ก่อนแจ้งเหตุต้องดูให้ดี รู้ให้จริงชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถ้าจะให้แน่นอนไปดูที่เกิดเหตุด้วยตนเองก่อนให้ชัดแล้วค่อยแจ้งทาง ว. ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน หรือเหตุเร่งด่วน จริง ๆ เพราะว่าหากเป็นเหตุเล็กๆ น้อยๆ ไม่รุนแรงสามารถตกลงรอมชอมกันได้ หรือไม่มีเหตุเกิดขึ้นจริง จะได้ไม่เสียเวลา และเกิดความเสียงหายต่อทางราชการได้) เช่นเดียวกันการแจ้งเหตุทาง ว. ให้ใช้ข้อความสั้น ๆ ฟังแล้วเข้าใจง่าย ใช้ขอความสั้น ๆ กะทัดรัดได้ใจความ หรือจะใช้รหัส ว. แทนก็ได้
รหัสการแจ้งเหตุทางวิทยุ
เหตุ 100 ประทุษร้ายทรัพย์
เหตุ 111 ลักทรัพย์
เหตุ 121 วิ่งราวทรัพย์
เหตุ 131 ชิงทรัพย์
เหตุ 141 ปล้นทรัพย์
เหตุ 200 ประทุษร้ายต่อร่างกาย
เหตุ 211 ทำร้ายร่างกายไม่ได้รับบาดเจ็บ
เหตุ 231 ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส
เหตุ 241 ฆ่าคนตาย
เหตุ 300 การพนันเป็นบ่อน
เหตุ 510 วัตถุต้องสงสัยเกี่ยวกับระเบิด
เหตุ 511 ได้เกิดระเบิดขึ้นแล้ว
เหตุ 512 วัตถุระเบิดได้ตรวจสอบแล้วไม่ระเบิด
เหตุ 600 นักเรียนจะก่อเหตุทะเลาะวิวาท
เหตุ 601 นักเรียนรวมกลุ่มมีสิ่งบอกเหตุเชื่อว่าจะก่อเหตุ
เหตุ 602 นักเรียนก่อเหตุหลบหนีไปแล้ว
เหตุ 603 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกัน
เหตุ 604 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกันถึงตาย
เหตุ 605 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกันมีวัตถุระเบิด
รหัส ว.
ว.0 ขอรับคำสั่ง ต้องการทราบ ให้บอกด้วย
ว.00 คอยก่อน
ว.1 ขอทราบที่อยู่
ว.2 ได้ยินหรือไม่
ว.3 ให้ทวนข้อความซ้ำอีก
ว.4 ออกไปปฏิบัติการตามปกติ
ว.5 ปฏิบัติการลับ
ว.6 ขออนุญาตติดต่อทางวิทยุ
ว.7 ขอความช่วยเหลือ
ว.8 มีข่าว ข้อความยาวที่จะส่งทางวิทยุ
ว.9 มีเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วนสำคัญ ให้ทุกสถานีคอยรับคำสั่งจากศูนย์ รถวิทยุมีเหตุฉุกเฉินเหตุด่วนขออนุญาตใช้ไฟแดงและไซเรน
ว.10 หยุดรถปฏิบัติงาน สังเกตการณ์ติดต่อทาง ว. ได้
ว.11 หยุดรถไม่เกี่ยวกับหน้าที่ แต่ติดต่อทาง ว. ได้
ว.12 หยุดรถ ปิดเครื่องวิทยุ
ว.13 ให้ติดต่อทางโทรศัพท์
ว.14 เลิกตรวจ เลิกปฏิบัติการ
ว.15 ให้ไปพบ
ว.16 ทดลองเครื่องรับ – ส่ง วิทยุ
ว.16 – 1 ฟังไม่รู้เรื่อง มีเสียงรบกวนมาก
ว.16 – 2 รับฟังไม่ชัดเจน
ว.16 – 3 รับฟังชัดเจนพอใช้ได้
ว.16 – 4 รับฟังชัดเจนดี
ว.16 – 5 รับฟังชัดเจนดีมาก
ว.17 จุดอันตราย ห้ามผ่าน (บอกสถานที่)
ว.18 นำรถออกทดลองเครื่องยนต์
ว.19 สถานีวิทยุอยู่ในภาวะคับขัน ถูกยึดหรือถูกโจมตี ไม่สามารถป้องกันตนเองได้
ว.20 ตรวจค้น
ว.21 ออกจาก
ว.22 ถึง
ว.23 ผ่าน
ว.24 เทียบเวลา แจ้งเวลา
ว.25 จะไปที่ใด ที่หมายใด
ว.26 ให้ติดต่อทางวิทยุให้น้อยที่สุด
ว.27 ติดต่อทางโทรพิมพ์
ว.28 ประชุม
ว.29 มีราชการอะไร
ว.30 ขอทราบจำนวน (คน สิ่งของ อาวุธ)
ว.31 ความถี่วิทยุช่อง 1
ว.32 ความถี่วิทยุช่อง 2
ว.33 ความถี่วิทยุช่อง 3
ว.34 ความถี่วิทยุช่อง 4
ว.35 เตรียมพร้อมออกปฏิบัติงาน
ว.36 เตรียมพร้อมเต็มอัตรา
ว.37 เตรียมพร้อมครึ่งอัตรา
ว.38 เตรียมพร้อมหนึ่งในสาม
ว.39 การจราจรคับคั่ง
ว.40 มีอุบัติเหตุทางรถ
ว.41 มีสัญญาณไฟจราจรเสีย
ว.42 ขอให้จัดยานพาหนะนำขบวน
ว.43 จุดตรวจ ด่านตรวจยานพาหนะ (บอกสถานที่)
ว.44 ติดต่อทางโทรสาร
ว.45 ตรวจสอบบุคคล
1. พบข้อมูล
2. ไม่พบข้อมูล
รหัสหรือโค้ด ว. ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ ตั้งแต่ ว.0 ถึง ว.46 นอกเหนือจากนั้นให้ใช้เป็นรหัสตัวเลขแทน โดยไม่มีคำว่า ว. นำหน้าตัวเลข เช่น ที่ทำงานใช้ รหัส 01 บ้านพักใช้รหัส 02 รถยนต์ใช้ 03 ห้องประชุมใช้รหัส 04 ที่เคยใช้ 60 ควรใช้คำว่า ญาติ , เพื่อน , พ่อ , แม่ ฯลฯ
61 ควรใช้คำว่า ขอบคุณ
62 ควรใช้คำว่า เสบียง หรือสิ่งของ (ให้ระบุชื่อสิ่งของนั้นฯ)
63 ควรใช้คำว่า บ้านพัก หรือ 02
64 ควรใช้คำว่า ภารกิจส่วนตัว
51 หรือ 605 ควรใช้คำว่า รับประทานอาหาร
100 ควรใช้คำว่า ภารกิจส่วนตัว
28 (สองแปด) ควรใช้คำว่า ว.สอง ว.แปด
ว.10 (ว.หนึ่งศูนย์) ควรใช้ ว.10 (ว.สิบ)
ว.21 (ว.ยี่สิบเอ็ด) ควรใช้ ว.21 (ว.ยี่สิบหนึ่ง)
ว.40 (ว.สี่ศูนย์) ควรใช้ ว.40 (ว.สี่สิบ)
กำลังโมบาย ควรใช้คำว่า 03 หรือยังอยู่ในรถ , กำลังขับรถ , ทำหน้าที่พลขับ
ล้อหมุน ควรใช้คำว่า 21 (ว.ยี่สิบหนึ่ง) หรือ เคลื่อนที่
ไม่มีความลับในความถี่ จะกดคีย์ให้คิดก่อน

มาตรการบันทึกคะแนนผู้ขับขี่

จ.ส.ต.บัณฑิต ดำคำ : เขียน
สวัสดีครับ กระผมจ่าสิบตำรวจบัณฑิต ดำคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานครับ วันนี้มีเรื่องที่จะขออนุญาตท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรานำความรู้เกี่ยวกับมาตรการบันทึกคะแนน อบรมทดสอบผู้ขับขี่รถที่กระทำผิดและการพักใบอนุญาตขับขี่มาฝากกันครับ เพราะปัจจุบันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนนมีอัตราสูงมากและเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน บางครั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย บางครั้งก็ถึงขนาดเสียชีวิตกันก็มาก ซึ่งจากการตรวจสอบนั้นพบว่าส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่หรือใช้ยวดยานพาหนะเสียมากกว่าสภาพอื่นๆ พูดง่ายๆ ก็คือมาจาก "คน" นั่นเอง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีกฎจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ มาบังคับใช้นานแล้ว และคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็มีความรู้เรื่องนั้นๆ พอสมควรก็ตามแต่ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นอยู่แทบจะตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันมิให้ "คน" มีการกระทำผิดกฎจราจรกันมากขึ้น สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ออกข้อกำหนดเรื่องการดำเนินการบันทึกคะแนน อบรม ทดสอบผู้ขับขี่ที่กระทำผิดและการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2542 และฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 ขึ้นมา โดยหากมีการกระทำผิด ผู้เกี่ยวข้องจะถูกทำการบันทึกคะแนนไว้ดังต่อไปนี้

1. บันทึก 10 คะแนน จำนวน 5 ข้อหา คือ
1.1 ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
1.2 ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร
1.3 ขับรถไม่ชิดซ้าย ( รถที่มีความเร็วช้า รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสารและรถจักรยานยนต์ )
1.4 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย
1.5 ขับรถยนต์โดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัย หรือโดยไม่จัดให้คน โดยสารซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ขับรัดเข็มขัดนิรภัย
2. บันทึก 20 คะแนน จำนวน 9 ข้อหา คือ
2.1 แซงรถข้างซ้ายและไม่มีความปลอดภัย
2.2 แซงรถเมื่อมีทางชัน ขึ้นสะพาน หรือในทางโค้ง
2.3 แซงรถในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยก วงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้
2.4 แซงรถเมื่อมีหมอก ฝน ฝุ่นหรือควันจนไม่อาจเห็นทางข้างหน้าได้ในระยะ 60 เมตร
2.5 แซงรถเมื่อเข้าที่ขับขันหรือเขตปลอดภัย
2.6 แซงรถในที่มีเครื่องหมายแสดงเขตอันตราย
2.7 จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่เปิดไฟในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
2.8 ขับรถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร
2.9 ขับรถแท็กซี่พาคนโดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทาง
3. บันทึก 30 คะแนน จำนวน 5 ข้อหา คือ
3.1 ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
3.2 ขับรถประมาทหรือหวาดเสียว
3.3 ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของคนขับรถตามธรรมดา
3.4 ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
3.5 ขับรถเร็วเกินกำหนด
4. บันทึก 40 คะแนน จำนวน 4 ข้อหา คือ
4.1 ไม่หยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด
4.2 ขับรถในขณะเมาสุรา
4.3 ขับรถชนแล้วหนี
4.4 แข่งรถในทาง
ครับนั่นก็คือ 23 ข้อกล่าวหาหลักที่หากท่านกระทำผิดแล้วจะต้องถูกบันทึกคะแนนตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ออกมา โดยในเรื่องนี้นั้นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติมาตรการในการยึดใบอนุญาตขับขี่และการบันทึกคะแนนสำหรับผู้กระทำความผิดบางกรณีหรือการกระทำความผิดซ้ำ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดฐานความผิด ซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกข้อกำหนดมาตรการบันทึกคะแนน อบรม ทดสอบผู้ขับขี่รถที่กระทำผิด และการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีที่ผู้ขับขี่กระทำผิดฐานความผิดที่กล่าวข้างต้น และมีมาตรการในการดำเนินการ ดังนี้
1. การยึดใบอนุญาตขับขี่ เมื่อผู้ขับขี่กระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว เมื่อชำระค่าปรับแล้วจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดครั้งละไม่เกิน 60 วัน
2. การบันทึกคะแนน เมื่อทำการยึดใบอนุญาตขับขี่แล้ว หลังจากนั้นจะถูกบันทึกคะแนนตามฐานความผิดโดยบันทึกไว้ด้านหลังใบอนุญาตขับขี่และในเครื่องบันทึกข้อมูล
3. การอบรมทดสอบผู้กระทำผิด การดำเนินการอบรมทดสอบผู้ขับขี่มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
3.1 การอบรมให้มีวิชา
(1) กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร
(2) สาเหตุและการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร
(3) ความรับผิดของผู้ขับขี่ในทางแพ่งและทางอาญา
(4) มารยาท คุณธรรมและความมีน้ำใจในการขับรถ
(5) อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อปัญหาการจราจร
3.2 การทดสอบ
ให้ทดสอบความรู้และความเข้าใจตามแบบทดสอบที่ผู้ดำเนินการอบรมจัดทำขึ้น ในกรณีที่ทดสอบแล้วได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 ให้มีการอบรมตามข้อ 3.1 แล้วทดสอบซ้ำจนกว่าจะผ่านการทดสอบ
4. การถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เมื่อผู้ขับขี่ได้กระทำความผิดและถูกบันทึกคะแนนไว้มีคะแนนรวมกันแล้วเกินกว่า 60 คะแนน หลังจากชำระค่าปรับแล้ว ผู้ขับขี่จะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตแต่ละครั้งมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
หากผู้ขับขี่กระทำความผิดซ้ำในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้ง ในกำหนดหนึ่งปี และถูกบันทึกคะแนนไว้ มีคะแนนรวมกันเกิน 60 คะแนน ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกอบรม ทดสอบ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไปพร้อมกัน
5. การขับรถในระหว่างถูกยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
- ผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ขับรถในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเกิดประโยชน์กับท่านบ้างตามสมควรนะครับ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดโทษเอาไว้หนักเบาเพียงใด ถ้าท่านใช้รถใช้ถนนโดยเคารพและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแล้ว บทลงโทษเหล่านั้นก็คงไม่สำคัญสำหรับท่าน รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันจะมีความปลอดภัย อีกทั้งตัวท่านเองก็ไม่ต้องมาเสียเวลาหรือเสียความรู้สึกเมื่อถูกบันทึกคะแนนในใบขับขี่ ถูกอบรม หรือถูกยึดใบขับขี่อย่างแน่นอน อย่าลืมนะครับ "กฎจราจรคือกฎแห่งความปลอดภัย" ครับ......สวัสดีครับ

พิธีศพสายตรวจอาสา

ด.ต.พันธ์สักดิ์ ไพเชฐศักดิ์ : เขียน
สายตรวจอาสา เป็นพลังมวลชนที่อาสาเข้ามาร่วมการปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความสมัครใจ ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ปณิธานอันแน่วแน่ของสายตรวจอาสาของเราทุกคนนั้นหวังเพียงอย่างเดียวว่าต้องการให้สังคมพี่น้องอำเภอพานอยู่เย็นเป็นสุข มีความสงบ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พี่น้องประชาชนนอนตาหลับและอุ่นใจ ทุกคนจึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ จนทำให้อำเภอพานมีความสงบสุขร่มเย็นตลอดเรื่อยมา เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นอย่างมาก การปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจอาสาทุกคนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.พานถือเป็นบุญคุณใหญ่หลวง และขอขอบคุณทุกท่านพร้อมครอบครัวที่กรุณาสละเวลาอันมีค่าเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ กับเรา

ในการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจอาสานั้น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับได้หมั่นออกตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจมาโดยตลอด รวมไปถึงการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้สายตรวจอาสาของเรารู้สึกอุ่นใจ มีกำลังใจและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถตลอดไป ซึ่งเรื่องนี้รวมไปถึงกรณีที่มีสายตรวจอาสาของเราคนใดคนหนึ่งจะต้องเสียชีวิตไปไม่ว่ากรณีใดๆ ข้าราชการตำรวจและผู้บังคับบัญชาทุกคนก็จะให้การช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้แก่ญาติ หรือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังสายตรวจอาสานั้นๆ ด้วย ประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการเดินทางไปร่วมงานฌาปนกิจศพซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาและข้าราชการตำรวจจะร่วมในงานนี้ทุกครั้งและทุกคน

การฌาปนกิจศพสายตรวจอาสาของเรานั้นประเพณีก็จะเหมือนการจัดงานศพทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ได้กระทำเพิ่มเติมเพื่อเป็นการให้เกียรติและไว้อาลัยก็คือการจัดให้มีการเป่าแตรนอนก่อนที่จะนำศพสายตรวจอาสาขึ้นสู่ฌาปนสถาน อีกอย่างหนึ่งก็คือสายตรวจอาสามีสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งสายตรวจอาสาส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ทางสมาคมได้ทำการมอบเงินส่วนหนึ่ง (ประมาณ 40,000 บาท) ให้แก่ครอบครัวของสายตรวจอาสาผู้เสียชีวิตอีกด้วย

จากการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจเหล่านี้ แม้ว่าท่านจะจากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ขอให้ดวงวิญญาณของท่านรับทราบไว้ด้วยว่า ท่านจากไปเฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่ความทรงจำและคุณงามความดีที่ท่านได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังคงติดตราอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป......ไปดีเถิด สายตรวจอาสาที่เคารพ....

สายตรวจอาสาอำเภอพาน

ประธาน ปิยะรักษ์ : เขียน
เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2544 สถานีตำรวจภูธรอำเภอพานซึ่งขณะนั้นมีท่าน พ.ต.อ.ยงยุทธ ณรงค์อินทร์ เป็นผู้กำกับการ และท่าน พ.ต.ท.ชวลิต ธนาคำ เป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม ได้มีแนวคิดที่จะจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับ "สายตรวจอาสา" เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านต่างๆ รวมทั้งคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการระวังไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในสังคมขึ้น อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นทะเลาะวิวาท ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาปล้นจี้ ข่มขืน เป็นต้น จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.ชวลิต ธนาคำ เป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลในการดำเนินการ ซึ่งท่าน พ.ต.ท.ชวลิต ได้ปรึกษาหารือกับคณะข้าราชตำรวจรวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วมีมติให้จัดให้มีการฝึกอบรมสายตรวจอาสาขึ้นมา โดยกำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกมาจากพี่น้องประชาชนของทุกตำบลและทุกหมู่บ้านที่สมัครและตั้งใจมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเมื่อได้รายชื่อผู้สมัครใจครบทุกหมู่บ้านและตำบลแล้วจึงได้จัดการฝึกอบรมขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2544 เป็นครั้งแรก

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมตั้งแต่นั้นมา พี่น้องสายตรวจอาสาอำเภอพานของเราทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก ลำบากหรือแม้กระทั่งค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งถึงปัจจุบันปรากฏว่าปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ลดน้อยลง ปัญหาบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เรียกว่าแทบจะหมดไปจากอำเภอพานก็ว่าได้ ปัจจุบันสายตรวจอาสาของเรามีบทบาทหน้าที่ต่อพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก และพี่น้องประชาชนต่างก็ยอมรับรวมทั้งให้ความสำคัญกับสายตรวจอาสาเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน กิจการงานต่างๆ จะต้องมีสายตรวจอาสาของเราเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ เช่น

ด้านการจราจรหรือการอำนวยความสะดวก สายตรวจอาสาของเราได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในงานรื่นเริงต่างๆ งานวัด งานมหรสพ งานศพ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้นด้านการรักษาความสงบ สายตรวจอาสาทุกหมู่บ้านทุกตำบลจะคอยเฝ้าระวังเข้าเวรยามในเวลาค่ำคืนและดูแลสถานที่ราชการ โรงเรียน วัดวาอาราม ตลอดจนโบสถ์ มัสยิดและอื่นๆ ให้ไม่ให้ใครเข้ามาเผาหรือทำลายให้เสียหายได้ อีกทั้งเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดไม่ให้เกิดขึ้นภายในชุมชนของตนและใกล้เคียง ตลอดจนการรักษาความสงบในงานรื่นเริง งานปอย งานวัด มหรสพ ไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน รวมถึงการตั้งจุดตรวจในเขตหมู่บ้านของตนช่วงเวลาตั้งแต่พลบค่ำจนถึงเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้นเป็นประจำอีกด้วย

ปัจจุบันสายตรวจอาสาอำเภอพานมีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 3,500 คนใน 15 ตำบล โดยเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สายตรวจอาสาอยู่สองพันคนเศษ ซึ่งหากสายตรวจอาสาผู้ใดเสียชีวิตก็จะได้เงินช่วยเหลือจำนวน 40,000 บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) และทางสมาคมก็จะเข้าไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับงานศพสายตรวจอาสาในตำบลนั้นๆ อย่างสมเกียรติ โดยมีการตั้งแถวเพื่อเคารพศพ มีการเป่าแตรนอน มอบเงินต่อหน้าแขกเหรื่อที่มาร่วมเป็นสักขีพยานที่ฌาปนสถาน รวมทั้งได้รับเกียรติจากผู้บังคับบัญชาและข้าราชการตำรวจ สภ.อ.พานร่วมในพิธีด้วยทุกครั้ง
สายตรวจอาสาอำเภอพานในปัจจุบันโดยการนำของท่าน พ.ต.อ.มาโนช มีสกุลคุณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน พ.ต.ท.วสวัตติ์ ปิ่นทอง รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม พ.ต.ท.สำเภา สุทธพันธ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สารวัตรป้องกันปราบปราม นั้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 ได้จัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคีสายตรวจอาสาอำเภอพานขึ้น เพื่อนำรายได้ที่ได้รับเป็นสวัสดิการและสงเคราะห์สายตรวจอาสาที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นขวัญกำลังใจส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็นำไปใช้ในกิจการสายตรวจอาสาอำเภอต่อไป เงินบริจาคทำบุญทั้งหมดที่ได้รับในวันนั้นมีจำนวน 227,948 บาท

จะเห็นได้ว่าสายตรวจอาสาอำเภอพานยังคงมีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปในเขตอำเภอพานเป็นอย่างยิ่ง กระผมในนามของประธานสายตรวจอาสาอำเภอพาน ขอขอบพระคุณผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.พาน , คณะกรรมการ กต.ตร. พี่น้องประชาชนในเขตอำเภอพาน ท่าน ส.จ., ส.ว. และผู้มีอุปการคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูง โดยกระผมและคณะสายตรวจอาสาอำเภอพานทุกคนขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำหน้าที่เพื่อสร้างความสงบสุข ร่มเย็นให้กับพี่น้องประชาชนทุกหมู่และทุกตำบลอย่างสุดความสามารถตลอดไป
ขอขอบพระคุณครับ
นายประธาน ปิยะรักษ์
ประธานสายตรวจอาสาอำเภอพาน

10.2.51

คดีอาญา 5 กลุ่ม

คดีอาญา 5 กล่มคืออะไร พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา : เขียน
ปัจจุบันนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารและแจ้งข่าวมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งช่องทางหนึ่งที่สำคัญและในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองคิดว่าจำเป็นอย่างขาดเสียไม่ได้ในสังคมยุคดิจิตอลนี้ก็คือการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานนั่นเอง ในส่วนของตำรวจนั้นเท่าที่พบก็รู้สึกชื่นใจที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญในส่วนนี้ซึ่งมีการจัดทำในหลายรูปแบบ แล้วแต่ความคิดของผู้เขียนหรือผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้นๆ สำหรับท่านที่เคยเปิดเว็บไซต์ของหน่วยงานตำรวจอาจจะพบคำว่า "สถิติคดีอาญา 5 กลุ่ม" หรือ "คดีอาญา 5 กลุ่ม" ผ่านตาอยู่บ้าง บางท่านอ่านแล้วก็ผ่านไปเลย แต่บางท่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าคำคำนี้คืออะไร หมายความว่าอย่างไร เพราะในเว็บไซต์เหล่านั้นแทบจะไม่มีการอธิบายความหมายไว้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจผู้เขียนจึงขออธิบายถึงคำคำนี้ให้ท่านที่ยังไม่ทราบได้รับทราบ เผื่อโอกาสต่อไปหากพบเห็นคำคำนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามจะได้เข้าใจกัน
"คดีอาญา 5 กลุ่ม" นี้นำมาใช้สมัยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น "กรมตำรวจ" และสังกัดอยู่กับ "กระทรวงมหาดไทย" โดยในครั้งนั้น (ไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่แน่นอนได้ว่าเป็นปีหรือ พ.ศ.ใด) ได้กำหนดให้มีการแบ่งคดีอาญาที่เกิดขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมไปถึงผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน โดยนำเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมและประชาชนเป็นเกณฑ์ สำหรับคดีอาญาที่แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ นั้นมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นคดีประเภทอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

1) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

2) ปล้นทรัพย์

3) ชิงทรัพย์ (ทั้งได้รับบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ)

4) วางเพลิง

5) ลักพาเรียกค่าไถ่
กลุ่มที่ 2 เป็นคดีประเภทที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

1) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

2) ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา

3) กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

4) พยายามฆ่า

5) ทำร้ายร่างกาย

6) ข่มขืนกระทำชำเรา
กลุ่มที่ 3 เป็นคดีประเภทที่เกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

1) ลักทรัพย์

2) วิ่งราวทรัพย์

3) รีดเอาทรัพย์

4) กรรโชกทรัพย์

5) ชิงทรัพย์ (ทั้งได้รับบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ)

6) ปล้นทรัพย์

7) รับของโจร

8) ทำให้เสียทรัพย์
กลุ่มที่ 4 เป็นคดีประเภทคดีที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

1) โจรกรรมรถจักรยานยนต์

2) โจรกรรมรถยนต์

3) โจรกรรมโค-กระบือ

4) โจรกรรมเครื่องมือการเกษตร

5) ปล้น-ชิงทรัพย์รถยนต์โดยสาร

6) ปล้น-ชิงทรัพย์รถแท็กซี่

7) ข่มขืนและฆ่า

8) ลักพาเรียกค่าไถ่

9) ฉ้อโกงทรัพย์

10) ยักยอกทรัพย์
กลุ่มที่ 5 เป็นคดีประเภทที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

1) พ.ร.บ.อาวุธปืน แบ่งเป็น - อาวุธปืนธรรมดา - อาวุธปืนสงคราม - วัตถุระเบิด

2) พ.ร.บ.การพนัน แบ่งเป็น - การพนันทั่วไป - การพนันสลากกินรวบ

3) พ.ร.บ.ยาเสพติด แบ่งเป็น - เฮโรอีน - ฝิ่น - กัญชา - สารระเหย - ยาบ้า - พืชกระท่อม

4) พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี

5) พ.ร.บ.สถานบริการ

6) พ.ร.บ.โรงแรม

7) มีหรือเผยแพร่วัตถุลามกอนาจาร
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็คือเรื่องราวของคดีอาญา 5 กลุ่ม หรือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะเรียกกันติดปากว่า "คดี 5 กลุ่ม" นั่นเอง สำหรับการนำคดีอาญา 5 กลุ่มไปใช้นั้นก็สุดแล้วแต่นโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะกำหนดว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด เช่น ในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้เปรียบเทียบการเกิดหรือการจับกุมของคดีกลุ่มต่างๆ ตามห้วงเวลา เช่น ปีหรือเดือนเดียวกันระหว่างปีนี้กับปีหรือเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนนี้คงจะสร้างความกระจ่างหรือความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่านบ้างตามสมควรนะครับ
พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา